พณ.เร่งส่งออกโค้งสุดท้ายลุ้นแตะ 2 หมื่นล้านดอลล์/เดือนดันทั้งปีเป็นบวก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 30, 2014 16:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้(ต.ค.-ธ.ค.57) กระทรวงพาณิชย์จะเร่งส่งเสริมและผลักดันการส่งออกสินค้าไทย เพื่อให้มูลค่าส่งออกในแต่ละเดือนอยู่ที่ประมาณ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 630,000-650,000 ล้านบาท เพราะหากเป็นไปได้จะทำให้การส่งออกของไทยทั้งปี 57 จะขยายตัวเป็นบวกได้อย่างแน่นอน

ส่วนในปี 58 ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกในเบื้องต้นว่าจะขยายตัวได้ราว 4% จากปีนี้ เพราะคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะดีขึ้น ต่างชาติมีความเชื่อมั่นรัฐบาลไทยมากขึ้น โดยขณะนี้ภาคเอกชนมีการนำเข้าวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบเพื่อเตรียมผลิตสินค้าเพื่อส่งออกมากขึ้น ไทยมีกลยุทธ์ในการบุกเจาะตลาดและเปิดตลาดใหม่ๆ มากขึ้น ส่งเสริมการค้าชายแดนและผ่านแดนมากขึ้น รวมถึงภาครัฐและเอกชนไทยร่วมกันทำตลาดมากขึ้น

"3 เดือนที่เหลือของปีนี้ มูลค่าการส่งออกแต่ละเดือนเฉลี่ยที่ 630,000-650,000 ล้านบาท น่าจะเป็นไปได้ เพราะล่าสุดเดือนก.ย.ได้กว่า 630,000 ล้านบาท จากเดือนส.ค.ที่ได้ 600,000 ล้านบาท แสดงว่าการส่งออกกำลังฟื้นตัว อีกทั้งการนำเข้าเดือนก.ย.ก็มากขึ้นด้วยมาอยู่ที่กว่า 695,000 ล้านบาท หมายความว่า ภาคเอกชนนำเข้าสินค้ามาผลิตเพื่อส่งออกมากขึ้น ถ้ามูลค่าส่งออก 3 เดือนได้ตามเป้าหมาย การขยายตัวทั้งปีน่าจะเป็นบวกได้" รมว.พาณิชย์ กล่าว

สำหรับกลยุทธ์ที่จะใช้ส่งเสริมและผลักดันการส่งออกในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ จะมีทั้งการรักษาตลาดเก่าและการบุกเจาะตลาดใหม่ โดยเน้นตลาดอาเซียน ตะวันออกกลาง รัสเซียและ CIS (ประเทศที่เคยอยู่ในสหภาพโซเวียต) ลาตินอเมริกา และแอฟริกา โดยเน้นให้ภาคเอกชนผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น เช่น สินค้าสำหรับผู้สูงอายุ, สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่วนสินค้าเกษตรได้เน้นให้ผลิตสินค้าคุณภาพดี และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้ามากขึ้น และเพิ่มการค้าขายสินค้าบนอินเตอร์เน็ตผ่านเว็บ Thaitrade.com ให้มากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายและกว้างขวางกว่าเดิม

รมว.พาณิชย์ กล่าวด้วยว่า ได้กำหนดยุทธศาสตร์ผลักดันการส่งออกเป็นรายประเทศด้วย เช่น อินเดีย ผลักดันโครงการเมืองคู่แฝด ระหว่างเมืองสุรัต รัฐคุชราต กับจังหวัดสุราษฏร์ธานี โดยเน้นสินค้าผลไม้ ธุรกิจบริการการท่องเที่ยว, ส่วนกัมพูชา เน้นธุรกิจ ภาพยนตร์ เพื่อเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์และต่อยอดการส่งออกสินค้าไทยอื่นๆ ควบคู่ไปกับการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค การส่งเสริมผู้ประกอบการไทยไปลงทุนด้านธุรกิจบริการโรงแรม โรงพยาบาล, ส่วนเมียนมาร์ ส่งเสริมการค้าชายแดนตามนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจก่อสร้าง การส่งออกวัสดุก่อสร้าง สินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจบริการแฟรนไชส์ เป็นต้น

"เราต้องกระจายความเสี่ยงไปตลาดใหม่ๆ มากขึ้น เพราะตลาดหลักทั้งสหรัฐฯ และยุโรปเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ตลาดใหม่ๆ อย่างอาเซียน อินเดีย ตะวันออกกลาง เศรษฐกิจยังดีอยู่ อย่างบาร์เรน ตอนนี้บริษัท ซี.พี.สามารถเจรจาขายข้าวได้แล้ว ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ซี.พี.ส่งออกข้าวไปขายที่นี่ และในอนาคตก็มีโอกาสขายสินค้าอื่นๆ ของไทยได้มากขึ้น ส่วนตลาดเก่าก็ยังให้ความสนใจอยู่ ทิ้งไม่ได้" รมว.พาณิชย์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ