(เพิ่มเติม) ม.หอการค้า เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ต.ค.อยู่ที่ 80.1

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 6, 2014 12:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ต.ค.57 อยู่ที่ 80.1 เพิ่มขึ้นจาก 79.2 ในเดือน ก.ย.57 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 69.6 จาก 69.2 ในเดือนก่อนหน้า

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 73.8 จาก 72.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 97.0 จาก 95.5

สำหรับปัจจัยบวกมาจากการที่รัฐบาลออกมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาส 4 วงเงิน 3.6 แสนล้านบาท, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาด GDP ปี 58 ขยายตัว 4.1% และราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวลดลง

ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่ สศค.ปรับลด GDP ปีนี้เหลือโต 1.4%, ราคาสินค้าเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ, ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลง, ผู้บริโภคยังกังวลปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ทรงตัวในระดับสูง และความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนต.ค. ปรับตัวดีขึ้นจากเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา เป็นเพราะปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือ รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในวงเงิน 3.6 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็น เงินสำหรับช่วยเหลือชาวนา 4 หมื่นล้านบาท และงบลงทุนต่างๆ อีก 3.2 แสนล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินในส่วนที่ช่วยเหลือชาวนาได้เริ่มลงไปตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่เม็ดเงินลงทุน 3.2 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการลงทุนซ่อมสร้างต่างๆ คาดว่าจะถูกใช้ภายในปีนี้ราว 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะมีผลต่อการจ้างงานของแต่ละท้องถิ่นเพิ่มขึ้นในอนาคต ดังนั้นเม็ดเงินเหล่านี้จึงเชื่อว่าจะเป็นตัวช่วยในการหมุนเวียนเศรษฐกิจให้คล่องตัวขึ้นได้

ส่วนปัจจัยสำคัญอีกประการ คือ การที่ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ในประเทศปรับตัวลดลง 2 บาท/ลิตร ซึ่งส่งผลทำให้ผู้บริโภคมองว่าจะช่วยลดภาระค่าครองชีพลงได้ส่วนหนึ่ง แม้จะมีการปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG และ NGV ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อคนกลุ่มใหญ่มากนัก

อย่างไรก็ตาม คาดว่า การบริโภคของประชาชนอาจจะยังไม่ฟื้นตัวมากนักในระยะนี้ เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นมากนัก แต่การที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 ด้วยวงเงิน 3.6 แสนล้านบาทนี้ จะทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และจะเป็นแรงผลักดันสำคัญที่จะส่งผลให้การบริโภคของประชาชนเริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจนในปลายไตรมาส 4 ของปีนี้ แต่ทั้งนี้รัฐบาลต้องเร่งเบิกจ่ายเงินเข้าสู่มือของประชาชนอย่างรวดเร็วและให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในเดือนพ.ย.นี้เป็นต้นไป

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ การที่ตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันได้ปรับตัวลดลงติดต่อกัน 2 เดือน กล่าวคือ ในเดือน ส.ค.อยู่ที่ 59.5 และเดือน ก.ย.ลดลงมาอยู่ที่ 58.6 และเดือน ต.ค.ลดลงมาอยู่ที่ 58.1 ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนมองว่าเศรษฐกิจในปัจจุบันยังไม่ค่อยดีนัก แม้จะเริ่มมีความมั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจในอนาคตมากขึ้นก็ตาม ดังนั้นจึงยังไม่กล้าจะจับจ่ายใช้สอย และทำให้เศรษฐกิจในปัจจุบันยังค่อนข้างนิ่ง

“แม้ในอนาคตจะมีเม็ดเงินมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ความเชื่อมั่นในอนาคตดีขึ้น แต่สำหรับในปัจจุบัน คนยังมองว่าเศรษฐกิจไม่ค่อยดี จึงทำให้ไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย ทิศทางเศรษฐกิจในปัจจุบันจึงยังนิ่งๆ ซึมๆ กำลังซื้อยังไม่มี จึงยังไม่กล้าจะกู้เงินเพื่อไปผ่อนซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือลงทุนทำธุรกิจ SMEs และได้ชะลอการตัดสินใจไว้ก่อน" นายธนวรรธน์ กล่าว

พร้อมมองว่า หากรัฐบาลเร่งอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบได้อย่างเป็นรูปธรรม ก็จะทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนมีทิศทางที่ดีขึ้น และค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้น โดยเชื่อว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะค่อยๆ เริ่มกลับมาเป็นทิศทางขาขึ้นได้ในช่วงปลายปีนี้เป็นต้นไป

อย่างไรก็ดี ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ ยังคงคาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปีนี้จะอยู่ที่ 1.3-1.5% ภายใต้สมมติฐานการส่งออกที่ -0.5 ถึง 0% ขณะที่ในปี 58 คาดว่า GDP จะเติบโตได้ราว 4-5% อัตราเงินเฟ้อที่ประมาณ 2.5%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ