TMB คาด GDP ปีนี้โต 1.3% ชี้ดบ.นโยบายระดับ 2%ยังเหมาะสม หากปรับลดอาจได้ไม่คุ้มเสีย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 12, 2014 16:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี(TMB Analytics) ประเมินจีดีพีไตรมาสสามขยายตัวร้อยละ 1.6 เร่งขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า แต่การฟื้นตัวเป็นไปช้ากว่าคาด ทำให้ตัวเลขปี 2557 เศรษฐกิจน่าจะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 1.3 เท่านั้น มองดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.00 ยังเอาอยู่

ในวันจันทร์ที่ 17 พ.ย.นี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) จะรายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ไตรมาสที่ 3/2557 ซึ่งเป็นที่จับตามองของหลายฝ่าย เพราะจะเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว แบบที่เรียกว่า V-Shape หรือไม่ในช่วงที่เหลือของปี จากที่ต้องฝ่าฟันปัญหาการเมืองมาอย่างโชกโชนในช่วงก่อนหน้านี้

ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจของเดือนกันยายน (สิ้นสุดไตรมาส 3) ยังดูทรงๆ กล่าวคือ การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเพียงร้อยละ 1.2 จากการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทน อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัว (ติดลบร้อยละ 5.0) ทั้งในส่วนของการก่อสร้างและการซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์ ทางด้านการใช้จ่ายภาครัฐซึ่งเป็นหัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของงบลงทุน (บวกร้อยละ 16) แต่อัตราการเบิกจ่ายยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงที่ผ่านมา (ปีงบประมาณ 2557 มีอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนร้อยละ 65 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 69)

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสามน่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 2.2 จากไตรมาสก่อนหน้า (หลังปรับฤดูกาล) ซึ่งเร่งตัวขึ้นบ้างจากการขยายตัวร้อยละ 0.9 (หลังปรับฤดูกาล) ในไตรมาสที่ 2/2557 แต่ก็ไม่ใช่การฟื้นตัวที่เร็วและแรงพอจะเรียกว่าเป็นแบบ V-Shape ได้ ทำให้อัตราการเติบโตของทั้งปีนี้ น่าจะลดมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.3 เท่านั้น เทียบกับร้อยละ 2.0 ที่ให้ไว้ก่อนหน้า

ศูนย์วิเคราะห์ฯ มองในระยะต่อไปว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือ แบบ U-Shape นั่นคือต้องให้เวลาอีกสักระยะในการสร้างโมเมนตัม จึงอาจไม่ทันใจภาคธุรกิจและประชาชนที่อยากเห็นเศรษฐกิจไทยกลับมาแข็งแกร่ง ทำมาค้าคล่องโดยเร็ว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นกระแสกดดันให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจต้องตัดสินใจผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม ในห้วงเวลาที่นโยบายการคลังยังออกโรงไม่เต็มที่

อย่างไรก็ตาม การศึกษาของศูนย์วิเคราะห์ฯ พบว่า นโยบายการเงินต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือนในการส่งผ่านผลไปยังภาคเศรษฐกิจจริง หมายความว่า หาก กนง.ตัดสินใจลดดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 17 ธ.ค.นี้ กว่าจะเห็นประสิทธิผลของนโยบายดังกล่าวก็ต้องรอครึ่งหลังของปี 2558 ซึ่งเมื่อเวลานั้นมาถึงการใช้จ่ายและโครงการลงทุนต่างๆ ของรัฐบาลก็คงออกโรงอย่างเต็มตัวไปแล้ว ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันที่ร้อยละ 2.00 จึงยังถือว่าเหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยในปีนี้

ผลของการลดดอกเบี้ย (ถ้าเกิด กนง. เซอร์ไพรส์ด้วยการหั่นดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมาจริง) น่าจะเป็นทางด้านจิตวิทยาและความเชื่อมั่นมากกว่า ซึ่งจะส่งผลบวกทันทีกับตลาดการเงินของไทย เช่น ตลาดหุ้นและราคาพันธบัตร เป็นต้น เรียกว่าอาจส่งผลคนละด้านกับที่ กนง. คาดไว้

แม้อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำของไทย (อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ร้อยละ 1.48 ณ เดือนตุลาคม เทียบกับกรอบนโยบายที่ร้อยละ 0.5-3.0) จะเปิดทางให้ กนง.สามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมได้ แต่การลดดอกเบี้ยในภาวการณ์ปัจจุบันอาจสร้างความเสี่ยงทางด้านเสถียรภาพขึ้นมาแทน เพราะหากมองไปรอบๆ ประเทศไทยจะพบว่าแทบไม่มีธนาคารกลางใดเลยที่อยู่ในวัฏจักรดอกเบี้ยขาลง (ยกเว้นเกาหลีใต้ที่มีปัญหาเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้า)

"ดังนั้น การปรับลดดอกเบี้ยอาจทำให้เงินทุนต่างชาติหนีออกจากไทย ค่าเงินบาทผันผวน และเงินเฟ้อเร่งตัวเกินคาดการณ์ได้ สรุปง่ายๆ ว่าอาจจะได้ไม่คุ้มเสีย" เอกสารเผยแพร่ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ