เงินบาทปิด 32.79/80 ยังเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ตลาดรอปัจจัยใหม่หนุน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 21, 2014 17:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงิน เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้ที่ระดับ 32.79/80 บาท/ดอลลาร์ จากเปิดตลาดช่วงเช้าที่ระดับ 32.80/81 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างวันเงินบาทไปทำโลว์ที่ระดับ 32.74 บาท/ดอลลาร์ และทำไฮที่ระดับ 32.82 บาท/ดอลลาร์
"ระหว่างวันปรับตัวตามแรงซื้อขายดอลลาร์ แต่ช่วงท้ายตลาดดอลลาร์กลับมาแข็งค่า ทำให้บาทอ่อนค่ากลับมาปิดตลาดใกล้เคียงกับช่วงเช้า" นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์ไว้ระหว่าง 32.60-33.00 บาท/ดอลลาร์

"เงินบาทมีโอกาสที่ทะลุแนวต้านและแนวรับได้หลังจากทรงตัวในกรอบต่อเนื่องมา 3 สัปดาห์แล้ว โดยมีแนวโน้มอ่อนค่า" นักบริหารเงิน กล่าว
  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 117.80 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 117.45 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.2437 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.2567 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,579.20 จุด เพิ่มขึ้น 10.52 จุด, +0.67% มูลค่าการซื้อขาย 60,181.02 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติซื้อสุทธิ 163.47 ล้านบาท(SET+MAI)
  • นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ปฏิเสธข่าวนำทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้จัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อเข้าไปลงทุนในโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เนื่องจากรัฐบาลมีแผนจัดหาเงินลงทุนอยู่แล้ว ทั้งด้วยเงินงบประมาณและเงินกู้ แต่เป็นการอาศัยจังหวะที่ทุนสำรองฯ ของประเทศอยู่ในระดับสูงในการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ต้องนำเงินบาทไปแลกเงินดอลลาร์จาก ธปท.ซึ่งจะทำให้ทุนสำรองฯลดลง ไม่ได้เป็นการนำไปใช้อย่างที่หลายฝ่ายกังวล
  • พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ปีนี้คาดการณ์ว่าโตเพียง 1% นั้น เป็นผลมาจากหลายปัจจัยทั้งต้นปี ตัวเลขเศรษฐกิจหลายส่วนติดลบ ทั้งภาคส่งออก การลงทุนภาครัฐ แต่ขณะนี้ตัวเลขต่างๆดีขึ้นตามลำดับ และรัฐบาลก็พยายามเดินหน้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน การคลัง การปรับปรุงกฎหมาย เพื่อประโยชน์ต่อการค้าการลงทุน และส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มากขึ้น
  • นายทาโร อาโสะ รมว.คลังญี่ปุ่น ได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะพิจารณาทบทวนแผนปฏิรูปด้านสวัสดิการสังคมในปัจจุบันของญี่ปุ่น ซึ่งมีเป้าหมายที่จะใช้เม็ดเงินที่ได้จากการปรับขึ้นภาษีการบริโภคเป็น 10% ตามที่มีการกำหนดไว้ในเดือนตุลาคม ปี 2558 หลังจากที่นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะของญี่ปุ่น ประกาศว่าจะเลื่อนกำหนดการปรับขึ้นอัตราภาษีออกไปอีก 18 เดือน ซึ่งก่อให้เกิดความวิตกกังวลว่า ญี่ปุ่นอาจจะไม่สามารถดำเนินมาตรการที่จำเป็นในการปฏิรูประบบสวัสดิการสังคมที่ย่ำแย่ของประเทศได้
  • ธนาคารกลางจีน (PBOC) พร้อมอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบธนาคารของประเทศหากมีเหตุจำเป็น
  • ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ เผยความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 4 เนื่องจากอุปสงค์ผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นตามคาด และการเปิดตัวโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จำนวนมากของรัฐบาล
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติของมาเลเซีย เผยดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI) ในเดือน ต.ค.57 เพิ่มขึ้น 2.8% เทียบรายปี เนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งในภาคการขนส่ง อาหาร และค่าน้ำค่าไฟ แต่ตัวเลขดังกล่าวยังน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3% เทียบรายปี
  • ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี ปิดปรับตัวลดลงในวันนี้ จากดำเนินการซื้อพันธบัตรของธนาคารกลางญี่ปุ่น โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรหมายเลข 335 ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราดอกเบี้ยระยะยาว ปิดที่ 0.455% ลดลง 0.010% จากระดับปิดเมื่อวานนี้ ขณะที่ราคาสัญญาพันธบัตรอายุ 10 ปีส่งมอบเดือน ธ.ค.ขยับขึ้น 0.09 จุด สู่ระดับ 146.45 ที่ตลาดหุ้นโอซาก้า
  • สมาคมแลกเปลี่ยนทองคำและเงินของจีน เผยราคาทองคำที่ตลาดฮ่องกงปรับตัวขึ้น 70 ดอลลาร์ฮ่องกง ปิดที่ระดับ 11,070 ดอลลาร์ฮ่องกง/ตำลึงในวันนี้ หรือราคาดังกล่าวเทียบเท่ากับ 1,197.47 ดอลลาร์สหรัฐ/ทรอยออนซ์ เพิ่มขึ้น 7.57 ดอลลาร์สหรัฐ ที่อัตราแลกเปลี่ยนล่าสุด 1 ดอลลาร์สหรัฐ/7.76 ดอลลาร์ฮ่องกง
  • องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ(OECD) เผยเศรษฐกิจอังกฤษขยายตัวในอัตรารวดเร็วที่สุดในบรรดาประเทศในกลุ่ม G7 โดยในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2556 และของปี 2557 เศรษฐกิจอังกฤษขยายตัว 3% แซงหน้าสหรัฐซึ่งรั้งอันดับ 2 ที่การขยายตัว 2.3% ในช่วงเวลาเดียวกัน แต่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอังกฤษชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบรายไตรมาส โดยในไตรมาส 3 ปีนี้เศรษฐกิจอังกฤษขยายตัว 0.7% ลดลง 0.2% จากระดับ 0.9% ของไตรมาส 2

แท็ก เงินบาท  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ