พาณิชย์ ขอความร่วมมือผู้ผลิตตรึงราคาสินค้าเป็นของขวัญปีใหม่-เอาจริงพ่อค้าฉวยโอกาส

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 24, 2014 18:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฯ ได้ศึกษาต้นทุนการผลิตสินค้าต่างๆ พบว่า ส่วนใหญ่ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น มีแต่ทรงตัวและลดลง หากผู้ผลิต ผู้ประกอบการรายใดขึ้นราคาสินค้าในช่วงนี้จะถือเป็นการฉวยโอกาสเอาเปรียบประชาชน กรมฯ จะดำเนินการตามกฎหมายตั้งแต่ขั้นเบาสุดไปจนถึงหนักสุด คือ เริ่มจากปรับและมีโทษจำคุก เพราะเป็นการซ้ำเติมประชาชน และขณะนี้เศรษฐกิจอยู่ในช่วงฟื้นตัว อยากให้ร่วมมือกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่นี้ไปกรมฯ จะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสถานการณ์ราคาสินค้า โดยได้จัดสายตรวจออกตรวจสอบราคาสินค้าเป็นประจำทุกวันๆ ละ 10 สาย ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนในต่างจังหวัดมีการค้าภายในจังหวัดออกตรวจสอบ และจะเพิ่มการตรวจสอบแบบจู่โจมมากขึ้น โดยเฉพาะร้านค้าหรือผู้ประกอบการที่ได้รับการร้องเรียนว่าฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้าจนเกินควร

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ต้นทุนโดยเฉพาะอาหารปรุงสำเร็จ พบว่าวัตถุดิบในการผลิตอาหารส่วนใหญ่ทรงตัวและปรับลดลง เช่น น้ำมันพืช ขณะนี้ 38-39 บาท/ขวดลิตร น้ำมันถั่วเหลือง ราคาทรงตัวที่ 55 บาท/ขวด ขณะที่เนื้อสุกร ไข่ไก่ มีราคาลดลง ทำให้กรมฯ ไม่ต้องประกาศราคาแนะนำ โดยเฉพาะเนื้อสุกร ส่วนราคาแก๊สหุงต้ม แม้จะเพิ่มขึ้น แต่เมื่อวิเคราะห์แล้วพบว่ากระทบต้นทุนเพียงจานละไม่กี่สตางค์ จึงไม่ควรใช้เป็นเหตุผลในการปรับขึ้นราคาสำหรับต้นทุนสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ พบว่า ส่วนใหญ่ทรงตัวและราคาลดลง โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลที่เป็นต้นทุนหลักในการขนส่ง ราคาลิตรละ 29.39 บาท จึงไม่มีแรงกดดันต่อต้นทุนการขนส่งและกระทบต่อต้นทุนสินค้า

นายบุณยฤทธิ์ กล่าวว่า กรมฯ ยังได้หารือกับผู้ประกอบการในหลายกลุ่มสินค้าตามนโยบายของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ ที่ขอให้ดูแลภาวะราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการที่จะตรึงราคาสินค้าต่อไป แม้จะพ้นช่วงที่ขอความร่วมมือในการตรึงราคาสินค้าในสิ้นเดือนพ.ย.57 เพราะต้นทุนส่วนใหญ่ยังไม่ได้สูงขึ้น ถือเป็นข่าวดีเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนที่จะได้เบาใจในการจับจ่ายใช้สอย

อย่างไรก็ตาม กรมฯ ไม่ได้ปิดกั้นการปรับขึ้นราคาสินค้า หากผู้ผลิตมีต้นทุนสูงขึ้นจริงก็สามารถมาหารือกับกรมฯ ได้ ซึ่งกรมฯ จะพิจารณาให้ตามความเป็นจริง เพราะได้ยึดหลักกลไกตลาดเสรีและไม่บิดเบือนกลไกตลาด เพียงแต่จะบริหารจัดการให้ทั้งฝ่ายผู้ผลิตและผู้บริโภคอยู่ร่วมกันได้ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเดือดร้อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ