คลังออกพันธบัตรธ.ก.ส. 5 หมื่นลบ. เพื่อปรับโครงสร้างหนี้จากจำนำข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 26, 2014 10:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วันนี้ว่ากระทรวงการคลังได้ออกพันธบัตรธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าววงเงิน 50,000 ล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นการออกพันธบัตรของรัฐวิสาหกิจในคราวเดียวกันที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ โดยได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี แสดงถึงความเชื่อมั่นในนโยบายของรัฐบาลและแนวทางการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ

การออกพันธบัตรของ ธ.ก.ส. ในครั้งนี้ ประกอบด้วยการออกพันธบัตร ธ.ก.ส. พ.ศ.2556 ครั้งที่ 20 (Re-open ครั้งที่ 2) อายุคงเหลือ 3 ปี 10 เดือน ในอัตราผลตอบแทนร้อยละ 2.75 ต่อปี และพันธบัตร ธ.ก.ส. พ.ศ.2558 ครั้งที่ 1 อายุ 7 ปี ในอัตราผลตอบแทนร้อยละ 3.01 ต่อปี ซึ่งจากการทำการสำรวจความต้องการลงทุนของนักลงทุน(Bookbuilding) ปรากฏว่ามีนักลงทุนแสดงความสนใจลงทุนในพันธบัตรทั้ง 2 รุ่น เป็นวงเงินรวมมากถึง 50,000 ล้านบาท แบ่งเป็นพันธบัตรรุ่นอายุคงเหลือ 3 ปี 10 เดือน วงเงิน 42,000 ล้านบาท และพันธบัตรรุ่นอายุ 7 ปี จำนวน 8,000 ล้านบาท โดยการออกพันธบัตรในรุ่นดังกล่าวมีสัดส่วนของนักลงทุนต่างๆ ที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน (Non-bank) รายใหม่โดยเฉพาะจากกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมให้ความสนใจลงทุนเป็นจำนวนมาก

สืบเนื่องจากรัฐบาลได้มีนโยบายเร่งด่วนในการแก้ปัญหาหนี้ที่เกิดขึ้นจากโครงการรับจำนำข้าวในช่วงที่ผ่านมาอย่างเป็นรูปธรรม กระทรวงการคลังร่วมกับ ธ.ก.ส. สำนักงบประมาณ และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จึงได้ประชุมหารือร่วมกันกำหนดแผนการออกพันธบัตรของ ธ.ก.ส. โดยมีกระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยตลอดอายุพันธบัตร และรัฐบาลรับภาระในการชำระคืนต้นเงินและดอกเบี้ย ซึ่งวัตถุประสงค์ในการออกพันธบัตรในครั้งนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ที่เกิดขึ้นจากโครงการรับจำนำให้สอดคล้องกับภาระทางการคลังและการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการได้อย่างเหมาะสมต่อไป

นายกฤษฎา อุทยานิน ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า การออกพันธบัตรดังกล่าวนับเป็นการจัดหาเงินกู้ของรัฐวิสาหกิจในคราวเดียวกันที่มีวงเงินสูงที่สุด แสดงถึงความเชื่อมั่นและได้การตอบรับข้อเสนอที่ดีจากสถาบันการเงินและนักลงทุนต่างๆ โดยเงื่อนไขอัตราผลตอบแทนในการออกพันธบัตรดังกล่าวถือเป็นต้นทุนที่เหมาะสมภายใต้ภาวะตลาดการเงินที่ผันผวนในปัจจุบัน โดยมีสัดส่วน Non-bank ที่ให้ความสนใจซื้อพันธบัตรครั้งนี้เพิ่มมากขึ้นเป็นร้อยละ 27.3 เปรียบเทียบกับสัดส่วน Non-bank ที่ซื้อพันธบัตร ธ.ก.ส.ในช่วงที่ผ่านมาซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 8.7-14.2 แสดงให้เห็นถึงการสร้างและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ของรัฐวิสาหกิจเพื่อรองรับการระดมเงินต่อไปในอนาคตได้อย่างมีศักยภาพต่อไป

ทั้งนี้ การเสนอขายพันธบัตร ธ.ก.ส.ในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากตัวแทนจำหน่ายพันธบัตรประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) และธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด (สาขากรุงเทพฯ)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ