สนพ.หนุน มช.พัฒนาระบบผลิตแก๊สชีวมวลทดแทนก๊าซ LPG ในอุตสาหกรรมเซรามิก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 28, 2014 15:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชวลิต พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมเซรามิกเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับประเทศถึงปีละกว่า 20,000 ล้านบาท แต่ที่ผ่านมาธุรกิจเซรามิกต้องเผชิญภาวะต้นทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนด้านพลังงาน ซึ่งต้องใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซ LPG และก๊าซ NGV ในการผลิต ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 60% และมีแนวโน้มจะยิ่งสูงขึ้นอีกในอนาคต ทำให้ผู้ประกอบการเสียเปรียบในการแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน จึงได้ให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินโครงการพัฒนาเชื้อเพลิงแก๊สจากชีวมวลสำหรับอุตสาหกรรมเผาอุณหภูมิสูง(เซรามิก) เพื่อศึกษาและพัฒนาระบบผลิตเชื้อเพลิงจากชีวมวลในระดับชุมชนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนก๊าซ LPG ที่ใช้ในอุตสาหกรรมเซรามิก อุตสาหกรรมแก้วและกระจก ด้วยการใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นมาเป็นเชื้อเพลิง เพื่อลดผลกระทบด้านต้นทุนพลังงานและเป็นการส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทนใช้ในอุตสาหกรรมเซรามิกขนาดกลางและขนาดเล็ก(SMEs)

นายอนุชา พรมวังขวา ผู้จัดการโครงการพัฒนาเชื้อเพลิงแก๊สจากชีวมวลสำหรับอุตสาหกรรมเผา อุณหภูมิสูง(เซรามิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเซรามิกได้พยายามปรับตัวโดยนำระบบ Gasifier ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตเชื้อเพลิงก๊าชจากชีวมวลมาใช้ ร่วมกับระบบเดิมที่ใช้ก๊าช LPG และ NGV ในกระบวนการผลิต แต่สามารถลดการใช้ก๊าชดังกล่าวได้บางส่วนเท่านั้น เพราะระบบ Gasifier ให้ความร้อนได้เพียง 800 องศาเซลเซียส ไม่เพียงพอต่อการใช้ในอุตสาหกรรมเซรามิกที่ใช้ความร้อนถึง 1,200 องศาเซลเซียส

ดังนั้น มช.จึงได้ศึกษาและพัฒนาระบบ Gasifier เพื่อเป็นแหล่งจ่ายพลังงานความร้อนให้เตาเผาเดิมแทนการใช้ก๊าซ LPG ได้ 100% และใช้ชีวมวลที่หาได้ในชุมชนเป็นแหล่งเชื้อเพลิงจากการทดสอบ พบว่าสามารถผลิตก๊าซที่มีอุณหภูมิได้สูงกว่า 1,230 องศาเซลเซียส และทางโครงการฯ ได้นำร่องทดสอบระบบต้นแบบที่โรงงานกระเบื้องดินเผา ลำปาง-ไทย จังหวัดลำปาง กับเตาเซรามิกแบบซัตเติ้ลขนาด 4.0 ลูกบากศ์เมตร ซึ่งใช้ไม้สับจำนวน 1,760 กิโลกรัม/ 1 รอบการเผา สามารถลดการใช้ก๊าซ LPG ได้ 220 กิโลกรัม/ 1 รอบการเผา คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้ 3,940 บาท ซึ่งหากนำระบบต้นแบบดังกล่าวไปใช้กับเตาเซรามิกแบบซัลเติ้ลที่มีอยู่ทั่วประเทศจำนวนกว่า 800 เตา จะทำให้ลดการใช้เชื้อเพลิง LPG ได้กว่า 30,000 ตัน/ปี คิดเป็นมูลค่าถึง 900 ล้านบาท/ปี

"นอกเหนือจากการใช้ไม้สับแล้ว ขณะนี้ทาง ม.เชียงใหม่ ยังอยู่ระหว่างการทดลองนำไม้อัดเม็ด(Wood pellets), ขยะอัดเม็ด (RDF5) ที่ทำจากส่วนผสมของกระดาษ ถุงพาสติก ใบไม้แห้ง และแกลบนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงกับเตาเผาเซรามิก และจะเผยแพร่ความรู้รวมถึงรวบรวมให้ชุมชนสามารถผลิตวัตถุดังกล่าวป้อนให้โรงงานเซรามิกเพื่อเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนอีกทางด้วย"นายอนุชา กล่าว

ด้านนายธนโชติ วนาวัฒน์ ผู้จัดการบริษัท กระเบื้องดินเผา ลำปาง-ไทย จำกัด กล่าวว่า การนำระบบแก๊สชีวมวลมาทดลองใช้ที่โรงงานในครั้งนี้ นับว่าเป็นโอกาสที่ดีเพราะนอกจากจะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงแล้ว ยังเป็นการนำวัสดุที่เหลือใช้ในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วย อีกทั้งคุณภาพการเผากระเบื้องที่ได้ก็ไม่แตกต่างจากการใช้ก๊าซ LPG ที่มีราคาสูงกว่ามาก

จากการปรับปรุงระบบในครั้งนี้ทำให้โรงงานสามารถลดการใช้ก๊าช LPG ได้เฉลี่ยวันละ 220 กิโลกรัม และหากโรงงานนำระบบดังกล่าวมาใช้แทนก๊าซ LPG ได้ทั้งหมดก็จะช่วยประหยัดค่าก๊าซ LPG ได้เดือนละ 118,200 บาท ซึ่งหากภาครัฐส่งเสริมและให้ความรู้กับผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง ก็จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้อุตสาหกรรม SMEs และสามารถดำเนินการต่อไปได้

พร้อมกันนี้ได้เตรียมยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องการลดต้นทุนการผลิต หลังได้รับผลกระทบหนักจากปัญหาการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน

"จะขอให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือเรื่องเงินลงทุนสร้างเตาเผาพลังงานทดแทนเพิ่มเติมจาก 30:70 เป็น 35:65" นายธนโชติ กล่าว

พร้อมระบุว่า หลังรัฐบาลประกาศลอยตัวราคาแอลพีจีทำให้ต้นทุนเพิ่มจาก 18-20 บาท/กก. มาเป็น 30 บาท/กก. หรือเพิ่มขึ้นราว 30% ส่งผลให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเซรามิคหลายรายต้องหยุดกิจการ เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นจนไม่สามารถแข่งขันได้

"ราคาแอลพีจีที่ปรับขึ้นมาทำให้เราไม่สามารถกำหนดราคาสินค้าที่เหมาะสมได้ หลายรายต้องเลิกกิจการ บางรายลดกำลังการผลิตเหลือแค่ 5%" นายธนโชติ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ