นักวิชาการหนุนภาษีที่ดิน เชื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำมากกว่าภาษีมรดก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 1, 2014 18:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางดวงมณี เลาวกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในงานเสวนา Thammasat Economic Focus "ภาษีที่ดินและมรดก : ใครมี ใครจ่าย ใครได้ประโยชน์" โดยมีข้อเสนอเกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และภาษีการรับมรดกว่า รัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ควรให้ความสำคัญกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นอันดับแรกในการปฏิรูประบบภาษีของไทย ซึ่งภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างควรมีข้อยกเว้นลดหย่อนให้น้อยที่สุด เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อยเท่านั้น โดยที่ดินของหน่วยงานราชการที่ปล่อยรกร้างว่างเปล่า ควรจะต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างด้วย หรือควรจะถูกเรียกคืนเพื่อนำมาให้ผู้ด้อยโอกาสได้ใช้ประโยชน์ต่อไป

ทั้งนี้ ต้องมีการกำกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเลี่ยงภาษีเกิดขึ้น และควรให้การสนับสนุนการประเมินราคาที่ดินรายแปลงให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อจะได้กำหนดราคาที่เป็นมาตราฐานให้ตรงกับมูลค่าของที่ดินโดยตรง

นางดวงมณี มองว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ควรทำความเข้าใจกับประชาชนให้เห็นถึงความสำคัญและเห็นถึงประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งการเดินหน้าเรื่องภาษีที่ดินฯ ในระยะแรกอาจจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อการกระจายถือครองที่ดิน แต่จะมีผลในการนำที่ดินมาใช้ประโยชน์มากขึ้น และน่าจะมีช่วยลดความความเลื่อมล้ำในสังคมได้

สำหรับภาษีการรับมรดกนั้น นางดวงมณี แสดงความเห็นว่าภาษีดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อคนระดับล่างหรือคนที่มีรายได้น้อย แต่จะกระทบต่อเศรษฐีมากกว่าคนที่เป็นมหาเศรษฐีหรืออภิมหาเศรษฐี ซึ่งอาจจะลดความเลื่อมล้ำได้ไม่มาก เนื่องจากไม่ได้จัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า

อย่างไรก็ตาม ยังเห็นว่า ควรจัดเก็บภาษีการให้ควบคู่ภาษีการรับมรดกในอัตราภาษีและการยกเว้นภาษีที่เทียบเคียงกับภาษีการรับมรดก เพื่อป้องกันช่องโหว่ในการเลี่ยงภาษี พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตที่อาจจะมีการเลี่ยงภาษีโดยการถือครองสังหาริมทรัพย์มากขึ้น ซึ่งจะทำให้สืบค้นได้ยาก เช่น อาจจะมีการถือครองที่ดินลดลงแต่ไปถือครองเพชรนิลจินดาแทน และถึงแม้จะทำให้คนที่ต้องการใช้ที่ดินเพื่อการประกอบอาชีพ หรือที่อาศัยสามารถเข้าถึงที่ดินได้มากขึ้น แต่ก็ถือเป็นการถือครองทรัพย์สินที่ไม่ได้เกิดผลิตภาพ

นอกจากนี้ รายได้ภาษีมรดกที่จัดเก็บอาจได้ไม่มากนัก จึงต้องมีการวางระบบการจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพ มีการบริการจัดการที่ดี มีระบบการตรวจสอบที่ดี ไม่เช่นนั้นจะเกิดต้นทุนที่สูงและไม่คุ้มค่าที่จะจัดเก็บภาษี และรายได้ที่ได้นั้นควรกำหนดให้เป็นรายได้แหล่งใหม่ของอปท. และเป็นแหล่งรายได้ของธนาคารที่ดินต่อไป

ด้านนายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ภัทร ตั้งข้อสังเกตต่อภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่า แม้เรื่องนี้จะมีส่วนช่วยในการลดความเลื่อมล้ำ แต่ในด้านเศรษฐกิจ หากรวมการเก็บทั้งภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเข้าด้วยกัน อาจจะกระทบต่อการลงทุนโดยเฉพาะด้านอสังหาริมทรัพย์ในอนาคตได้ จึงมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการแยกการเก็บภาษีที่ดินและภาษีสิ่งปลูกสร้าง หรือกำหนดแยกอัตราภาษีที่แตกต่างกัน และควรมีการกำหนดให้มีการเรียกเก็บอัตราภาษีที่สูงขึ้น สำหรับผู้ถือครองที่ดินที่รกร้างว่างเปล่าไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์

ด้านภาษีการรับมรดก นายพิพัฒน์ มองว่า ต้องมีการกำหนดมาตราการป้องกันในการหลบเลี่ยงภาษี เพราะเมื่อกระแสข่าวว่ารัฐจะเดินหน้าเรื่องภาษีการรับมรดก อาจจะมีเศรษฐีบางคนโอนทรัพย์สินไปยังต่างประเทศ ซึ่งแม้ว่ากฏหมายจะกำหนดให้ต้องเสียภาษีก็ตาม แต่การติดตามหรือตรวจสอบทรัพย์สินก็อาจทำได้ไม่ง่ายนัก และการเปลี่ยนรูปแบบการถือครองทรัพย์สิน อาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจการลงทุนได้ จึงจำเป็นต้องดำเนินการเรื่องนี้ด้วยความเป็นธรรม

ด้านนายปัณณ์ อนันอภิบุตร ตัวแทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กระทรวงการคลัง มองว่า การจัดเก็บภาษีการรับมรดก แม้อาจจะมีความพยายามหลีกเลี่ยงภาษีก็ตาม แต่อยากให้มองว่าอัตรภาษีที่เรียกเก็บไม่ถึง 10% อาจจะเก็บเพียง 1-3% เท่านั้น ซึ่งหากเปรียบเทียบในหลายประเทศถือว่าต่ำมาก เพราะในต่างประเทศใช้การเก็บภาษีแบบอัตราก้าวหน้า

ทั้งนี้ การประเมินราคาที่ดิน รัฐจะมีการกำหนดมาตราฐานที่เป็นราคากลางให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อลดปัญหาการถือครองที่ดินให้รกร้างว่างเปล่า และสามารถแก้ไขความเลื่อมล้ำตามนโยบายของรัฐบาลได้อย่างแท้จริง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ