(เพิ่มเติม) กพช.ไฟเขียวปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน-ราคารับไฟฟ้าพลังงานแบบ FIT

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 15, 2014 18:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบกรอบและแนวทางในการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยมีกรอบและแนวทางหลัก ได้แก่ 1.ราคาพลังงานต้องสะท้อนต้นทุนแท้จริง 2.ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง ควรจะมีอัตราภาษีสรรพสามิตที่ใกล้เคียงกัน 3. ให้กองทุนน้ำมันฯ มีภารกิจเพื่อการรักษาเสถียรภาพราคาและส่งเสริมพลังงานทดแทน 4.ลดการชดเชยข้ามประเภทเชื้อเพลิง (Cross Subsidy) 5.ค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมันดีเซลและเบนซินโดยเฉลี่ยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเป็นธรรม โดยมอบให้ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) รับไปกำหนดราคาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

และ 6.ช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และยังสามารถนำภาษีที่จัดเก็บได้ไปใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่ได้รับผลกระทบจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง

ทั้งนี้จะพิจารณาปรับอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงของกลุ่มเบนซินและดีเซลให้ใกล้เคียงกันมากขึ้นอยู่ระหว่าง 2.85 – 5.55 บาท/ลิตร จะจัดเก็บภาษีสรรพสามิตของก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) เช่นเดียวกับน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ พร้อมกำหนดส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิดให้เหมาะสม 7.การเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของน้ำมันเชื้อเพลิงในแต่ละประเภทในอัตราที่คำนึงถึงค่าความร้อน

อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งมีแนวโน้มในทิศทางลดลง ได้มีการประชุมพิจารณาปรับราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศลงตามทิศทางตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม - วันที่ 14 ธันวาคม 2557 ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในประเทศปรับตัวลงถึง 13 ครั้ง ลดไป 9.79 บาท/ลิตร อยู่ที่ราคา 39.36 บาท/ลิตร น้ำมันแก๊สโซฮอล 91 ปรับลง 16 ครั้ง ลดไป 8.40 บาท/ลิตร อยู่ที่ราคา 30.28 บาท/ลิตร ดีเซลปรับลง 6 ครั้ง ลดไป 2.10 บาท/ลิตร อยู่ที่ราคา 27.89 บาท/ลิตร โดยราคาน้ำมันเบนซินปรับตามราคาตลาดโลก สำหรับดีเซลที่ผ่านมารัฐได้มีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน เพื่อชดเชยการตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไว้ให้ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กมาก (VSPP) ปี 2558 (ไม่รวมพลังงานแสงอาทิตย์) และเพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT พิเศษ (FiT Premuim) เพื่อสร้างแรงจูงใจการลงทุนสำหรับโครงการตามนโยบายรัฐบาล เช่น ขยะ ชีวมวล และก๊าซชีวภาพ และโครงการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยอัตรา FiT จะสอดคล้องกับต้นทุนพลังงานหมุนเวียนที่แท้จริง และจะมีการทบทวนอย่างต่อเนื่องเพื่อลดภาระอัตราค่าไฟฟ้าในอนาคต เพื่อสร้างความเป็นธรรมสูงสุดให้กับผู้ประกอบการและประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า เนื่องจากเป็นการอุดหนุนแบบค่อยเป็นค่อยไปตลอดอายุสัญญา โดยรูปแบบ FiT แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.) กลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง (พลังงานลม และน้ำ) จะกำหนด FiT คงที่ตลอดอายุสัญญา

2.)กลุ่มที่มีต้นทุนเชื้อเพลิง (พลังงานขยะ ชีวมวล และก๊าซชีวภาพ) โดยจะกำหนด FiT คงที่สะท้อนเงินลงทุนโครงการ และมีอัตรา FiT ส่วนผันแปร ปรับต้นทุนตามราคาเชื้อเพลิงทุกปีและสอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ รวมทั้งได้เห็นชอบ การปรับปรุงรูปแบบจากการรับซื้อตามลำดับการยื่นข้อเสนอที่มีความพร้อมก่อน เป็นการคัดเลือกข้อเสนอโครงการโดยใช้ รูปแบบการแข่งขันทางด้านราคา (Competitive Bidding) โดยอัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT จะใช้เป็นราคาเริ่มต้นในระบบ Competitive Bidding ดังกล่าว โดยประโยชน์ที่ได้รับคือ ภาครัฐจะสามารถกำหนดพื้นที่หรือโซนนิ่งของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแต่ละเชื้อเพลิง ป้องกันการแย่งชิงวัตถุดิบ และสอดคล้องกับความสามารถการรองรับไฟฟ้าของระบบสายส่ง

ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานดำเนินการออกประกาศหยุดรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Adder โดยมีผลถัดจากวันที่ กพช. มีมติ และให้ออกระเบียบรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ FiT ให้แล้วเสร็จภายใน 30 มกราคม 2558 และเปิดให้มีประกาศรับข้อเสนอขอขายไฟฟ้าใหม่ภายในไตรมาสแรกของปี 2558

รวมถึงได้เห็นชอบในหลักการและแนวทางการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (พ.ศ. 2558-2559)หรือแผน PDP 2015 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการจัดทำแผนแบบบูรณาการร่วมกับแผนอนุรักษ์พลังงาน และแผนพัฒนาพลังงานทดแทน ซึ่งการจัดทำแผนดังกล่าวได้ยึดหลัก 3 ข้อ คือ 1. ความมั่นคงทางพลังงาน (Security) โดยต้องจัดหาไฟฟ้าให้พอต่อความต้องการใช้ และใช้เชื้อเพลิงหลากหลายเพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาเชื้อเพลิงชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไป 2. เศรษฐกิจ (Economy) ให้ค่าไฟฟ้ามีความเหมาะสมและใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ และ 3.สิ่งแวดล้อม (Ecology) ที่ต้องลดผลกระทบที่เกิดกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยการจัดทำแผน PDP 2015 สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจโดยใช้ประมาณการความเติบโตเศรษฐกิจระยะยาวที่ร้อยละ 3.94% ต่อปี รวมถึงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ และรองรับการเติบโตของประชากร และการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมของประชากร

แผนดังกล่าวได้จัดทำตามแนวทางของ กพช. ครั้งที่ผ่านมาที่ให้บูรณาการกับแผนพลังงานที่เกี่ยวข้อง โดยแผน PDP 2015 ได้ผนวกผลจากการเพิ่มประสิทธิภาพตามแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงถึง 89,672 ล้านหน่วย (GWh) ในปี 2579 ผ่านมาตรการต่างๆ ที่ลงสู่ 4 กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ อุตสาหกรรม อาคารธุรกิจ ที่อยู่อาศัย และภาครัฐ อาทิ การทยอยลดการอุดหนุนราคาพลังงาน มาตรการทางภาษีและมาตรการด้านการเงินเพื่อส่งเสริมการลงทุนด้านการอนุรักษ์พลังงาน การกำหนดมาตรฐานการใช้พลังงานในอาคาร(Building Code) รวมถึงเร่งรัดการรณรงค์ด้านพฤติกรรมการใช้พลังงานและการปลูกจิตสำนึก และได้เน้นการพัฒนาพลังงานทดแทนภายใต้เป้าหมายของแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 20 ปี ซึ่งเน้นการพัฒนาพลังงานทดแทนให้ได้เต็มตามศักยภาพที่มีในแต่ละพื้นที่ โดยจะมีการผลิตส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ ชีวมวลและก๊าซชีวภาพเพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกับเกษตรกรและชุมชน เช่น ขยะ 500 MW และชีวมวลแบ่งเป็น 2,500 MW จากศักยภาพเชื้อเพลิงชีวมวลที่มีเหลืออยู่ในปัจจุบัน และ1,500 MW จากนโยบาย Zoning ของกระทรวงเกษตรฯ รวมถึงพลังงานทดแทนอื่นๆ เช่น ลม แสงอาทิตย์ ซึ่งจะมีต้นทุนแข่งขันกับ LNG ได้ในอนาคต พร้อมขยายระบบส่งและระบบจำหน่ายของ 3 การไฟฟ้ารองรับการส่งเสริมพลังงานทดแทนเป็นรายพื้นที่ ตลอดจนพัฒนาระบบ Smart Grid เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและเพิ่มคุณภาพของไฟฟ้าที่ประชาชนจะได้รับ

โดยในช่วง 10 ปีแรกของแผน จะมีกรอบประมาณการสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ดังนี้ ซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากต่างประเทศ ร้อยละ 10 - 15 ถ่านหินสะอาด ร้อยละ 20 - 25 พลังงานหมุนเวียน ร้อยละ 10 - 20 และก๊าซธรรมชาติ ร้อยละ 45 - 50 สำหรับในช่วง 10 ปีหลังของแผน จะมีกรอบประมาณการสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ดังนี้ ซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากต่างประเทศ ร้อยละ 15 - 20 ถ่านหินสะอาด ร้อยละ 20 - 25 พลังงานหมุนเวียน ร้อยละ 15 - 20 และก๊าซธรรมชาติ ร้อยละ 30 - 40 และนิวเคลียร์ ร้อยละ 0 - 5 นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการ ความมั่นคงและศักยภาพด้านไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่ (Zoning) โดยแบ่งเป็น 5 ภูมิภาค ได้แก่ กรุงเทพและปริมณฑล ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ รวมถึงพัฒนาระบบส่งและระบบจำหน่ายให้เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน สอดคล้องกับ ASEAN Power Grid เพื่อรองรับการเปิดเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งจากการเห็นชอบกรอบแนวทางในวันนี้กระทรวงพลังงานจะได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนผ่านเวทีประชาพิจารณ์ต่อไป

สำหรับประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากแผน PDP 2015 นอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าของประเทศแล้ว ยังเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศในด้านราคา และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนที่เป็นพลังงานสะอาดมากขึ้น ช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลจากต่างประเทศ โดยเฉพาะ LNG และเป็นการส่งเสริมการใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในประเทศกว่า 80 ล้านตันต่อปี ซึ่งก่อให้เกิดผลประโยชน์จากค่าเชื้อเพลิงที่กระจายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจตามแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ประมาณ 1.16 แสนล้านบาทต่อปี ในปี 2579


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ