HSBC เชื่อศก.ไทยไม่ถดถอย คาดปีนี้โต 3.9% แต่ต้องพึ่งมาตรการกระตุ้นมากขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 12, 2015 11:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.นลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย วิเคราะห์เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/58 โดยมองว่า ข่าวดีสำหรับเศรษฐกิจไทยคือไม่มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยทั้งในไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ของปี 57 เติบโตร้อยละ 1.1 ต่อไตรมาสเมื่อปรับผลของฤดูกาลแล้ว (แม้ว่าในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี เศรษฐกิจจะเติบโตเพียงแค่ร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า) แต่ข่าวร้ายก็ยังหลงเหลืออยู่ คือ อัตราการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังต่ำมาก ถึงแม้ว่าจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม ซึ่งรวมถึงการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่เกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อย และการเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณ

นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวอย่างจำกัดจากหนี้ครัวเรือนที่สูง และรายได้เกษตรกรที่ต่ำ ขณะที่การส่งออกยังไม่สดใสในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากอุปสงค์ภายนอกที่ยังอ่อนแอบวกกับราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างเชื่องช้า คือ ความเชื่อมั่นภาคเอกชนที่ยังอ่อนแอ และความล่าช้าในการใช้มาตรการการคลังบางอย่างเพราะกรอบการอนุมัติที่ใช้เวลานาน

ดังนั้นช่วงกลางเดือนธ.ค.57 ที่ผ่านมา เอชเอสบีซีได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 57 และปี 58 เหลือร้อยละ 0.5 และร้อยละ 3.9 ตามลำดับ จากเดิมที่ร้อยละ 1.0 และร้อยละ 4.5 นอกจากนี้ ยังคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.75 ภายในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่าหนี้ครัวเรือนจะยังอยู่ในระดับสูงและยังคงน่าเป็นห่วง แต่การเติบโตของสินเชื่อครัวเรือนที่ชะลอลงทำให้ผู้ดำเนินนโยบายการเงินคลายความกังวลลงบ้าง นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปน่าจะอยู่ที่ระดับต่ำกว่าร้อยละ 1.0 ในครึ่งแรกของปี 2558 และเปิดโอกาสให้อัตราดอกเบี้ยสามารถปรับตัวลงได้อีก

ถึงแม้ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจจะเริ่มต้นปี 58 จากระดับต่ำ แต่เศรษฐกิจน่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ โดยมีปัจจัยหนุนหลักมาจากการลงทุนภายในประเทศ และการท่องเที่ยว ในขณะที่คาดว่าการส่งออกสินค้าจะเติบโตแข็งแกร่งขึ้นจากปีก่อน แต่ผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจะถูกลดทอนลงจากการนำเข้าที่น่าจะเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งเช่นกัน ซึ่งเป็นผลจากความต้องการลงทุนที่ฟื้นตัวกลับมา

"เราคาดว่าการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ นอกจากจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศและการจ้างงานให้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังช่วยให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น และส่งเสริมให้มีการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น เช่น การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แนวรถไฟฟ้าสายใหม่แถบใจกลางเมือง" นักเศรษฐศาสตร์ HSBC ประเทศไทย ระบุ

พร้อมวิเคราะห์นโยบายของรัฐบาลด้วยว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันมีเป้าหมายที่จะลดการทุจริตคอร์รัปชั่น และลดการพึ่งพานโยบายประชานิยม ดังนั้นจึงน่าจะเห็นความล่าช้าของโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ เนื่องจากกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อให้เกิดความโปร่งใส นอกจากนี้ ยังเป็นไปได้ยากที่จะเห็นโครงการช่วยเหลือภาคการเกษตรขนาดใหญ่ออกมาเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นการบริโภคในระยะอันใกล้นี้

รัฐบาลตั้งเป้าหมายในด้านการปฏิรูปเศรษฐกิจหลายเรื่อง เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่เศรษฐกิจในระยะยาว โดยมุ่งเน้นเชื่อมโยงเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค การเพิ่มผลิตผล และความยั่งยืนทางการคลัง ขณะที่หลายมาตรการยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น แต่ก็มีหลายโครงการที่มีความคืบหน้าไปมากพอสมควร เช่น การปรับโครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีก เพื่อลดการอุดหนุนจากภาครัฐ, ข้อเสนอด้านกฎหมายเกี่ยวกับภาษีมรดก และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อหารายได้เข้ารัฐ และโครงการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐที่มีการแก้ไข ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและมีมูลค่าเพิ่มสูงกว่าเพื่อการเติบโตระยะยาวของไทย

สำหรับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะจำกัดการเข้าแทรกแซงตลาดไว้เพียงแค่เพื่อควบคุมความผันผวนของเงินบาทที่มากเกินไป และปล่อยให้เงินบาทเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด ดังเช่นที่ผ่านๆ มา ซึ่งธปท.ได้เน้นย้ำหลายครั้งว่าเป็นแนวนโยบายที่มุ่งใช้เพื่อบริหารจัดการการไหลเข้าของเงินทุน และบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่มีต่อการคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจนั้น เอชเอสบีซีมองว่าส่วนใหญ่มาจากรายได้ของเกษตรกรที่เติบโตในระดับต่ำ และการลงทุนภาครัฐที่อาจมีความล่าช้า รายได้เกษตรกรที่เติบโตต่ำนั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคและนำไปสู่การขาดดุลการคลังที่มากขึ้น ทั้งนี้ การที่หลายภาคส่วนฝากความหวังอย่างมากกับแผนแม่บทด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การเลื่อนเวลาดำเนินโครงการอาจทำให้ความเชื่อมั่นภาคเอกชนลดลง และส่งผลให้เกิดการชะลอตัวของการลงทุนภาคเอกชนไปด้วย

นอกจากนี้ ภาคการส่งออกยังมีความเสี่ยงจากการไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(GSP) ของสหภาพยุโรปตั้งแต่ปี 58 ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ผลกระทบโดยตรงจากภาษีน่าจะต่ำกว่าร้อยละ 0.1 ของการส่งออกรวม แต่การสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดอาจจะมีมูลค่าสูงกว่านั้นมาก

ขณะที่ความเสี่ยงด้านการเมืองยังคงมีอยู่ เมื่อพิจารณาระยะเวลาในการจัดการเลือกตั้ง ล่าสุด รัฐบาลประเมินว่าการจัดการเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นได้ในช่วงต้นปี 2559 แต่การอภิปรายเรื่องการปฏิรูปทางการเมืองต่างๆอาจจะทำให้การบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ล่าช้าออกไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ