"ชาติชาย"วาง 7 แนวทางนำ"ออมสิน"สู่"ผู้นำธนาคารประชาชนแห่งภูมิภาคอาเซียน"

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 20, 2015 11:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสินคนใหม่ กล่าวว่า ในปี 2558 ธนาคารฯ จะมุ่งให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนเศรษฐกิจ ฐานรากตามนโยบายของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบของสินเชื่อ Micro SMEs และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาหนี้ครัวเรือน ผ่านสินเชื่อที่ให้วงเงินกู้และเงื่อนที่ผ่อนปรนเหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย โดยเฉพาะกลุ่มรายย่อย รวมถึงการขยายธุรกรรมทางการเงินที่หลากหลายครอบคลุมลูกค้าทุกกลุ่ม พร้อมกับการทำหน้าที่ เป็นแหล่งทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในระดับฐานราก รวมถึงรองรับความต้องการเข้าถึงแหล่งทุนตามนโยบายรัฐบาล

จากนี้ไปธนาคารออมสินจะดำเนินภารกิจเพื่อไปสู่การเป็น “ธนาคารของประชาชน" โดยส่งเสริมการออม พัฒนา และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของประชาชน เศรษฐกิจ และสังคมตั้งแต่ระดับฐานราก เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศไทย พร้อมกับ ยกระดับบริการทางการเงินและคุณภาพการให้บริการสู่มาตรฐานสากล ก้าวสู่การเป็น “ผู้นำธนาคารประชาชนแห่งภูมิภาคอาเซียน" โดยกำหนดแนวทางการดำเนินงาน 7 ด้าน ภายใต้แนวคิดมุ่งสู่การเป็น “ธนาคารออมสินยุคใหม่ GSB New Era" ดังนี้

1.Customer Centric ปรับโครงสร้างองค์กรและกระบวนการ มุ่งเน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) เข้าใจความต้องการของลูกค้า เพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละกลุ่ม โดยให้เข้าไปสู่จิตวิญญาณของลูกค้า(Human Spirit) สร้างความดึงดูดใจเพื่อให้ประทับใจและใช้บริการของธนาคารออมสินไปนานๆ และมีการบอกต่อให้แพร่หลายในวงกว้างมากขึ้นให้มาใช้บริการกับธนาคารออมสิน

2.Branding & Marketing สร้างแบรนด์ที่มีอายุถึง 102 ปี ให้มีความชัดเจนและทันสมัยอยู่ตลอดเวลา เพื่อดึงกลุ่มลูกค้า Gen Y ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่ธนาคารมีอยู่เป็นจำนวนน้อย พร้อมกับสร้างการรับรู้-จดจำ และเน้นย้ำแบรนด์ “ธนาคารออมสิน" ควบคู่กับการส่งเสริมการออม การพัฒนาสังคม ชุมชน และประชาชนระดับฐานรากให้มีความเข้มแข็ง อีกทั้งดำเนินการปรับรูปแบบสาขา บรรยากาศที่สาขา(Look & Feel) ให้ทันสมัยและพัฒนาแผนการสื่อสารการตลาดแบบ “ผสมผสาน" โดยเฉพาะ สื่อรูปแบบใหม่ๆ อาทิ e-Channel, Social Media, Social Network เป็นต้น

3.Product & Service พัฒนา Product & Solution ที่ตอบสนองความต้องการ พฤติกรรม และ Life Style ที่เฉพาะเจาะจงของลูกค้า มี Product Innovation และ Product Management ที่ดี ปรับโฉมผลิตภัณฑ์ ให้แปลกใหม่และทันสมัย เช่น “MYMO" หรือ Mobile Banking ของธนาคาร มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านบัตรอิเล็คทรอนิกส์ ทั้งบัตรเดบิต บัตรกดเงินสด และบัตรเครดิต โดยยกระดับคุณภาพการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการ(Service Quality) ให้ได้มาตรฐานระดับสากล รวมถึงพัฒนาช่องทางให้บริการใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทุกที่ทุกเวลา เช่น Internet Banking, Mobile Banking, e-Chanel เป็นต้น

4.พัฒนาคน ลงทุนด้านการพัฒนาบุคลากร เพื่อสร้างทักษะความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และมุมมองใหม่เพื่อเพิ่มศักยภาพพนักงานมากกว่า 15,000 คน ภายใต้งบประมาณกว่า 400 ล้านบาท ด้วยหลักสูตรเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางธุรกิจ จำนวน 15 หลักสูตร ที่จะเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถบุคลากรให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง (Change Management) ซึ่งจะทำให้พนักงานมีความเป็นมืออาชีพด้านการบริการ (Sale & Service Excellence) พร้อมให้บริการด้วยใจ และสามารถเป็นที่ปรึกษาด้านการเงินได้อย่างมืออาชีพ

5.พัฒนา IT ตอบโจทย์ลูกค้าในยุค Internet และ Smart Device พัฒนาไปสู่ความเป็นดิจิตอล เพื่อให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบายในการรับบริการจากธนาคาร เช่น Internet/Mobile Banking, Payment Online พัฒนาระบบฐานข้อมูลลูกค้า เพื่อให้ธนาคารู้จักตัวตนของลูกค้าในแต่ละกลุ่ม (Know you customer) ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์/บริการ และการตัดสินใจ โดยธนาคารออมสินจะต้องมีระบบ IT ที่ทันสมัย เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจแบบลูกค้าเป็นศูนย์กลาง พร้อมทั้งพัฒนาระบบบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ(PCI DSS, ISO 27001)

6.มุ่งเน้นค่าธรรมเนียม มุ่งเน้นการบริการทางการเงินแก่ประชาชน เพื่อให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบายในการใช้บริการจากธนาคาร โดยธนาคารออมสินจะเป็น Transactional Banking ผ่านช่องทางที่หลากหลาย ทันสมัย และครอบคลุมทุกพื้นที่

7.การกำกับดูแลและการบริหารความเสี่ยง เพิ่มระดับเงินกองทุนให้ใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์ พร้อมทั้งลดการพึ่งพารายได้ดอกเบี้ย โดยเพิ่มสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ เพื่อให้สามารถรองรับวิกฤติเศรษฐกิจ หรือผลกระทบเชิงลบต่างๆ อีกทั้งต้องบริหารคุณภาพสินทรัพย์และควบคุม NPLsให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งในการบริหารความเสี่ยงด้านสินเชื่อ จะพัฒนากระบวนการและอำนาจอนุมัติสินเชื่อ พัฒนาเครื่องมือการบริหารความเสี่ยง เช่น B-score, Credit Bureau Score และการบริหารความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ(Operation Risk) เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง สิ่งสำคัญคือมุ่งเน้นการกำกับดูแลกิจการที่ดี เป็นองค์กรแห่งธรรมาภิบาล

ขณะที่ผลประกอบการธนาคารออมสินในปี 2557(1 ม.ค.-31 ธ.ค.2557) มีกำไรสุทธิหลังหักโบนัสจำนวน 24,389 ล้านบาท สูงกว่าปี 2556 จำนวน 2,480 ล้านบาท และสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งปี 2557 จำนวน 19,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 128.36%

ทั้งนี้รายได้ส่วนใหญ่มาจากดอกเบี้ยเนื่องจากการขยายตัวของสินเชื่อ รวมทั้งความสำเร็จในการบริหารสินทรัพย์และหนี้สินอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการติดตามและปรับปรุงคุณภาพหนี้ให้ดีขึ้น โดย ณ วันที่ 31 ธ.ค.2557 ธนาคารฯ มีเงินให้สินเชื่อรวม 1,802,978 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 124,669 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงกว่าแผนงานของธนาคารที่ตั้งเป้าหมายไว้ 75,500 ล้านบาท หรือสูงกว่าแผน 165.12% และมีสินทรัพย์รวม 2,261,402 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 84,501 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยนโยบายการให้สินเชื่อของธนาคารฯ ในปี 2557 ยังดำรงสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยต่อสินเชื่อรายใหญ่อยู่ที่ร้อยละ 93:7 สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากการปล่อยสินเชื่อที่เป็นไปตามนโยบายเพื่อสนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยเฉพาะสินเชื่อแก่กลุ่มเศรษฐกิจฐานราก สินเชื่อกลุ่มลูกค้ารายย่อย สินเชื่อเพื่อธุรกิจ SMEs ตลอดจนสินเชื่อแก่หน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ สินเชื่อบุคคลรายย่อย สินเชื่อเคหะ ทำให้ในปี 2557 ธนาคารออมสินยังมีรายได้หลักจากดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งตลอดทั้งปีมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 55,654 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1,747 ล้านบาท สูงกว่าแผนที่ตั้งไว้ 52,260 ล้านบาท หรือ 106.49%

ขณะที่รายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 3,692 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากปีก่อน 1,056 ล้านบาท และสูงกว่าแผนงานที่ตั้งเป้าหมายไว้ 2,900 ล้านบาท หรือคิดเป็น 127.31% โดยรายได้ด้านนี้ส่วนสำคัญมาจากการบริหารพอร์ตลงทุนที่ได้กำไรและเงินปันผลในระดับที่ดี ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิอยู่ที่ 4,008 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากปีก่อน 267 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากรายได้ค่าธรรมเนียมเงินกู้และค่าธรรมเนียมจากธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์

นายชาติชาย กล่าวว่า ในปี 2557 มีเหตุการณ์และสถานการณ์หลายปัจจัยที่ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ลูกค้าบางส่วนขาดความสามารถในการชำระหนี้ ธนาคารออมสินจึงได้เร่งดำเนินการแก้ไขในช่วงไตรมาสที่ 2 โดยการผ่อนปรนด้วยมาตรการต่างๆ ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อรายย่อยจนถึงระดับ SMEs ด้วยการลดเงินงวดผ่อนชำระเป็นเวลา 6 เดือน มาตรการบรรเทาเหตุแผ่นดินไหว พักชำระหนี้ลูกค้าเดิมไม่เกิน 6 เดือน ลดเงินงวด/ขยายเวลาผ่อนชำระ ช่วยให้ลูกค้าสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างคล่องตัวขึ้น ขณะที่ธนาคารฯ มีการตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญค่อนข้างสูง จากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก

อย่างไรก็ตาม จากการที่ธนาคารฯ มุ่งให้ความสำคัญกับการบริหารสินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างรัดกุม และผ่อนปรนตามความเหมาะสม โดยเน้นประสิทธิภาพในทุกกระบวนการตามมาตรการแก้ไขหนี้ สอดคล้องกับปริมาณสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นอย่างสมดุล โดยได้ดำเนินการควบคู่กันด้วยการปรับปรุงกระบวนการให้สินเชื่อใหม่อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น ทำให้ปริมาณหนี้ด้อยคุณภาพทยอยปรับลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 3 ถึงไตรมาส 4 ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPLs ทยอยปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจน ณ สิ้นปี 2557 อยู่ที่ 1.37% ของสินเชื่อรวม

ด้านการรับฝากเงิน ภายใต้ภารกิจความเป็นสถาบันเพื่อการออมของธนาคารออมสิน ปรากฏว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 มียอดเงินฝากรวม 1,952,504 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 73,079 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นเงินฝากประจำ 3 เดือน เงินฝากประจำ 12 เดือน เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 11 เดือน รวมถึงผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษเพื่อส่งเสริมการออมในระหว่างปี ได้แก่ “เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษเพิ่มสุข" อัตราดอกเบี้ยสูงสุด 5.5% ต่อปี “เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 5 เดือน" อัตราดอกเบี้ยจาก 2.20% ต่อปี “เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 11 เดือน" อัตราดอกเบี้ย 2.65% ต่อปี และ “เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 7 เดือน" อัตราดอกเบี้ย 2.70-2.80% ต่อปี นอกจากนี้ยังมี “สลากออมสินพิเศษ 3 ปี" แคมเปญแจกทองคำมูลค่ารวมกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งจะเปิดรับฝากไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2558


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ