ธปท.จับตาค่าเงิน-เงินทุนเคลื่อนย้ายใกล้ชิด หลัง ECB ใช้มาตรการ QE ครั้งใหญ่

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 23, 2015 15:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า การประกาศมาตรการ QE ของ ธนาคารกลางยุโรป(ECB) ในครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ธนาคารกลางต่างๆ ได้มีการติดตามและประเมินผลอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของประสิทธิภาพและประสิทธิผลของมาตรการ QE รวมไปถึงผลข้างเคียงต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย ทั้งนี้ ธปท.จะเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน และการเคลื่อนย้ายเงินทุนในระยะต่อไปอย่างใกล้ชิด

อนึ่ง ธนาคารกลางยุโรป(ECB) มีมติวานนี้ (22 ม.ค.) เข้าซื้อสินทรัพย์จำนวน 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ทำให้ปริมาณที่เข้าซื้อทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 1.14 ล้านล้านยูโรนั้น ถือว่าเป็นจำนวนมากกว่าที่ตลาดคาด และภายหลังการประกาศมาตรการดังกล่าว พบว่าตลาดการเงินในต่างประเทศตอบรับในเชิงบวก โดยตลาดหุ้นในสหรัฐฯ และยุโรปปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากคาดว่ามาตรการดังกล่าวของ ECB จะช่วยลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของ EU ลง โดย ECB จะเริ่มเข้าซื้อตั้งแต่เดือน มี.ค.2015 ไปจนถึงเดือน ก.ย.2016 (นับเป็นระยะเวลา 19 เดือน) และอาจขยายระยะเวลาต่อออกไปจนกว่าแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อจะเข้าใกล้เป้าหมายที่ 2% แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ ECB ในการที่จะทำให้บรรลุได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบกับการทำ QE ของธนาคารกลางสหรัฐ(Fed) จะพบข้อสังเกตว่า ในช่วงแรกของการทำ QE ของสหรัฐฯ สามารถเข้าซื้อได้ทั้งพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ(US Treasury) และตราสารหนี้ภาคเอกชน(Mortgage-Backed Securities : MBS) โดยช่วงเวลาการทำ QE1 เริ่มตั้งแต่ 16 ธ.ค.2008 จนถึงเดือน มี.ค.2010 ได้ซื้อหลักทรัพย์ไปทั้งสิ้นจำนวน 1,750 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ส่วนการทำ QE ของ ECB ก่อนหน้านี้ทำได้เพียงการเข้าซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชน (Asset-backed security : ABS และ Covered Bond)

แต่การตัดสินใจของ ECB ล่าสุดเมื่อวานนี้ ทำให้สามารถเข้าซื้อตราสารภาครัฐที่อยู่ในยูโรโซนได้ด้วย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ต้องติดตาม เนื่องจาก ECB เองเกิดจากการรวมตัวกันจากหลายประเทศในยุโรป ดังนั้นจึงค่อนข้างมีความซับซ้อนกว่า QE ของ Fed อยู่บ้าง เพราะนอกจากแต่ละประเทศจะเข้าซื้อหลักทรัพย์ของประเทศตนแล้ว ยังสามารถเข้าซื้อในประเทศอื่นภายในกลุ่มได้ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ