SCB EIC คาดส่งออกปีนี้โตแค่ 0.8%ชี้ราคาน้ำมันโลกร่วงทำรายได้-อุปสงค์ลด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 28, 2015 12:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB EIC) ประเมินว่าการส่งออกไทยในปี 58 มีแนวโน้มขยายตัวในระดับต่ำเพียง 0.8% โดยราคาน้ำมันโลกที่หดตัวต่อเนื่องในปี 58 จะกดดันมูลค่าการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปและเคมีภัณฑ์ของไทย และยังกดดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์อย่างยางพาราและน้ำตาล ซึ่งการส่งออกสินค้าดังกล่าวมีสัดส่วนถึง 15% ต่อการส่งออกทั้งหมดของไทย

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันโลกที่หดตัวยังกระทบต่อรายได้และอุปสงค์ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นตลาดศักยภาพสูงของการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบของไทย อีกทั้งเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวจากอุปสงค์ในประเทศ การขยายฐานการผลิตของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไปยังอินโดนีเซียเพื่อทดแทนการนำเข้าจากไทย และการถูกตัดสิทธิพิเศษทางศุลกากร(GSP) จากสหภาพยุโรปในทุกหมวดสินค้า จะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกไทยในปี 58 ขยายตัวในระดับต่ำ โดยอีไอซีคาดว่าทั้งปี 58 มูลค่าการส่งออกไทยจะขยายตัวเพียง 0.8%

กระทรวงพาณิชย์ รายงานมูลค่าการส่งออกไทยเดือนธ.ค.57 อยู่ที่ 18,790.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ 1.9% แต่ทั้งปี 57 มูลค่าการส่งออกไทยยังน่าผิดหวัง โดยหดตัว 0.4% ด้านการนำเข้าในเดือนธ.ค.57 หดตัวต่อเนื่องกว่า 8.7% มาอยู่ที่ 17,201.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ในเดือนธ.ค.57 ไทยกลับมาเกินดุลการค้าที่ 1,588.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และทั้งปี 57 ขาดดุลการค้าลดลงเหลือ 378.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวในเดือนธ.ค.จากการส่งออกสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะมูลค่าการส่งออกข้าวและน้ำตาลที่ขยายตัวถึง 67.0% และ 96.1% ตามลำดับ โดยมูลค่าการส่งออกข้าวที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากปริมาณการส่งออกที่ขยายตัวกว่า 100% เนื่องจากรัฐบาลมีการระบายข้าวในสต็อก ด้านมูลค่าการส่งออกน้ำตาลขยายตัวจากอุปทานในตลาดโลกที่ลดลง หลังผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลกอย่างบราซิลต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง

การส่งออกสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรม การส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบสามารถกลับมาขยายตัวถึง 11.7% ตามมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น 29.8% อีกทั้งการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้ายังขยายตัว 7.5% จากการส่งออกตู้เย็นและส่วนประกอบที่เพิ่มขึ้น 32.4% แต่ทว่าการส่งออกเครื่องปรับอากาศที่หดตัว 1.1% กดดันให้การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่สามารถขยายตัวได้มากนัก

แต่อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกตลอดทั้งปี 57 ยังน่าผิดหวัง โดยการส่งออกทั้งหมดหดตัว 0.4% เป็นผลมาจาก 1) ราคายางพาราที่ตกต่ำ โดยในเดือนธ.ค.มูลค่าการส่งออกยางพาราหดตัวลงอีก 43% ส่งผลให้ทั้งปี 57 มูลค่าการส่งออกยางพาราลดลงกว่า 7% 2) มูลค่าการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบที่ขยายตัวในระดับต่ำ ซึ่งทั้งปี 57 ขยายตัวเพียง 0.6% หลังจากการส่งออกไปยังตลาดสำคัญอย่างอินโดนีเซียและออสเตรเลียหดตัวลงถึง 18.3% และ 10.4% ตามลำดับในปี 2557 และ 3) ราคาน้ำมันโลกที่หดตัวต่อเนื่องกดดันมูลค่าการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปของไทยซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 6% ของการส่งออกทั้งหมดให้ลดลงอีก 20.4% ในเดือนธ.ค. อีกทั้งยังกดดันอุปสงค์ในกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง ทำให้การส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบไปยังตลาดตะวันออกกลางหดตัวลง 6.1%

มูลค่าการส่งออกไปยังตลาด G3 กลับมาขยายตัว ในขณะที่การส่งออกไปยังจีนหดตัวต่อเนื่อง โดยในเดือนธันวาคมนั้น การส่งออกไปยังตลาด G3 ซึ่งประกอบไปด้วยสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป กลับมาขยายตัวที่ 13.2%, 5.9% และ 1.8% ตามลำดับ ส่งผลให้การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯในปี 57 ขยายตัว 4.1% หลังจากเศรษฐกิจสหรัฐฯปรับตัวดีขึ้นในปี 57

สำหรับการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นในปี 57 ยังคงหดตัว 1.9% เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีการบริโภคในช่วงเดือนเมษายนของปี 57 ด้านการส่งออกไปจีนหดตัวต่อเนื่องจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลง โดยการส่งออกไปจีนในปี 2014 ลดลงราว 8% ด้านการส่งออกไปยังตลาดศักยภาพสูงอย่าง CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) ในปี 57 สามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องถึง 9.0%

มูลค่าการนำเข้าทั้งปี 57 หดตัว 9% จากราคาน้ำมันโลกที่ลดลงและอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัว มูลค่าการนำเข้าในเดือนธันวาคมหดตัวอีก 8.7% จากราคาน้ำมันโลกที่หดตัวต่อเนื่อง ซึ่งกดดันมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบให้ลดลงกว่า 42.6% ส่งผลให้การนำเข้าเชื้อเพลิงที่มีสัดส่วนกว่า 20% ของการนำเข้าทั้งหมดหดตัวลง 8.6% ตลอดทั้งปี 57 ด้านการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนธ.ค.มีทิศทางดีขึ้น โดยขยายตัว 1.6% จากการนำเข้าเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ทั้งปี 57 มูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนยังคงหดตัว 7.6% เมื่อประกอบกับมูลค่าการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบที่ทั้งปี 2014 หดตัวกว่า 10% สะท้อนให้เห็นถึงการลงทุนและการผลิตในประเทศที่ยังชะลอตัว ทั้งนี้ ราคาน้ำมันโลกที่มีทิศทางลดลงต่อเนื่องจะส่งผลให้การนำเข้าของไทยหดตัวต่อไป และทำให้ไทยมีแนวโน้มกลับมาเกินดุลการค้าในปี 58


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ