(เพิ่มเติม) สศค.คาด GDP ปี 58 โตเร่งตัวเป็น 3.9% จาก 0.7% ในปี 57 ส่งออกยังมีข้อจำกัด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 29, 2015 17:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 58 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นมาอยู่ที่ 3.9% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3.4 – 4.4%) จากในปี 57 ที่คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ 0.7% ชะลอลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 2.9% โดยได้รับแรงส่งของการใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากโครงการลงทุนยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านการคมนาคมขนส่ง เม็ดเงินจากงบกลางที่กันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปีและงบไทยเข้มแข็ง การลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ยังเบิกจ่ายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนในปี 59 ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งมาตรการการเพิ่มประสิทธิภาพในการเบิกจ่าย ประกอบกับอุปสงค์จากต่างประเทศคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นภายหลังสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศคลี่คลายลง

อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าของไทยในปีนี้จะยังคงมีข้อจำกัดในการขยายตัวจากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจภาพรวมที่ฟื้นตัวขึ้นและนโยบายภาครัฐที่มีความชัดเจน ซึ่งจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นตาม ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 58 จะอยู่ที่ 0.9% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 0.4 – 1.4%) ลดลงจากปีก่อนหน้า ตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่มีทิศทางลดลง เนื่องจากอุปทานที่มากกว่าอุปสงค์ในตลาดโลก

“ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอ่อนแอ ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยน และแนวโน้มการลดลงของราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตร"นายกฤษฎา กล่าว

นายกฤษฎา กล่าวว่า สศค.ได้ประเมิน GDP ในปี 58 ว่าจะขยายตัวที่ 3.9% จากก่อนหน้าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 4% โดยอยู่ภายใต้สมมติฐานที่สำคัญ 6 ประการ คือ 1.เศรษฐกิจโลกในปี 58 คาดว่าจะเติบโตได้ 3.83% ฟื้นตัวจากในปี 57 ที่เติบโตได้ 3.6% 2.อัตราแลกเปลียนเงินบาทเฉลี่ยทั้งปีที่ระดับ 33.06 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากในปี 57 ที่เฉลียที่ระดับ 32.49 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งปัจจัยที่จะมีผลต่อค่าเงินบาทที่ต้องติดตามในปีนี้ คือ นโยบายการเงินของประเทศที่พัฒนาแล้ว, ทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้าย, ความเสี่ยงของเศรษฐกิจรัสเซีย และความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศต่างๆ ที่อาจจะส่งผลต่อค่าเงิน

3.ราคาน้ำมันดิบดูไบที่ปรับตัวลดลงจากปีที่ผ่านมา โดย ณ วันที่ 27 ม.ค.58 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ 45.87 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยปัจจัยที่อาจจะมีผลต่อราคาน้ำมันที่ต้องติดตาม เช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก, สหรัฐ, จีน และยุโรป, ค่าเงินดอลลาร์, การปรับตัวของผู้ผลิต Shale Oil ในอเมริกาเหนือ, ท่าทีของกลุ่ม OPEC ในช่วงกลางปี, สภาวะอากาศและภัยธรรมชาติ รวมทั้งการปรับตัวด้านนโยบายพลังงานของประเทศต่างๆ

4.ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้า 5.อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยตลอดทั้งปีนี้ไว้ที่ระดับ 2% เพื่อช่วยสนับสนุนภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และ 6.การเบิกจ่ายภาครัฐที่คาดว่าจะดีขึ้น และมีโครงการเบิกจ่ายเพิ่มเติมในปีงบประมาณ

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 57 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ 0.7% ชะลอลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 2.9% สาเหตุหลักจากการส่งออกสินค้าและบริการที่มีแนวโน้มหดตัว ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ล่าช้าและความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวที่ลดลงในช่วงครึ่งปีแรกจากปัญหาความไม่สงบทางการเมือง นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐยังค่อนข้างต่ำ อันเป็นผลจากการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นไปอย่างล่าช้าในช่วงที่มีปัญหาความไม่สงบทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยเริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวในช่วงปลายปี โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนที่ดีขึ้น การจ้างงานและรายได้นอกภาคเกษตรที่อยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับต้นทุนการดำเนินงานของภาคธุรกิจที่ลดลงตามราคาพลังงาน สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 57 อยู่ที่ 1.9% ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า ตามราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศเป็นสำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ