เงินบาทปิด 32.58/59 แข็งค่ากว่าภูมิภาค ลุ้นหลุด 32.50

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 2, 2015 17:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงิน เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 32.58/59 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงเช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 32.67/68 บาท/ดอลลาร์

วันนี้เงินบาทแข็งค่าค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค น่าจะเป็นเพราะวันนี้มีแรงขายดอลลาร์จากฝั่ง offshore ตอนนี้คงต้องดูว่าบาทมีโอกาสจะแข็งค่าหลุดระดับ 32.50 บาท/ดอลลาร์ ไปได้หรือไม่ เพราะถ้าหลุดจากนี้ก็ยังมีแนวโน้มแข็งค่าได้ต่อ

นักบริหารเงิน คาดว่า พรุ่งนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.50 - 32.65 บาท/ดอลลาร์ โดยต้องติดตามการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ เช่น ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ม.ค.

  • ปัจจัยสำคัญ
  • ปิดตลาดช่วงเย็นนี้ เงินเยนอยู่ที่ระดับ 117.67 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 117.55 เยน/ดอลลาร์
  • ส่วนเงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.1350 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.1317 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,582.70 เพิ่มขึ้น 1.45 จุด (+0.09%) โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 42,910 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 405.80 ลบ.(SET+MAI)
  • กระทรวงพาณิชย์ เผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ(CPI)เดือนม.ค.58 ดัชนีอยู่ที่ 106.02 ลดลง 0.41% จากเดือนช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 0.59% จากธ.ค. 57 เนื่องจากราคาพลังงานและอาหารสดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
  • นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือน ม.ค.58 ที่ติดลบ 0.41% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และติดลบ 0.59% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค. 57 นั้น เป็นไปตามที่ ธปท.ได้ประเมินไว้แล้ว โดยอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบดังกล่าวมีสาเหตุสำคัญมาจากราคาน้ำมันที่ได้ปรับตัวลดลงตามราคาของตลาดโลก
  • นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) คาดว่าแนวโน้มค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ(Ft) งวดใหม่เดือน
พ.ค.-ส.ค. มีโอกาสที่จะปรับลดลงได้ จากระดับ 58.96 สตางค์/หน่วยในปัจจุบัน หากราคาน้ำมันดิบทรงตัวอยู่ในระดับ 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่กกพ.อยู่ระหว่างการจัดทำโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานใหม่ ซึ่งพยายามจะทำให้แล้วเสร็จในงวดเดียวกันด้วย
  • นายฮารุฮิโกะ คูโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการอ่อนค่าลงของสกุลเงินเยนญี่ปุ่นเมื่อเร็วๆนี้ว่า อัตราแลกเปลี่ยนควรเคลื่อนไหวโดยสะท้อนปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ดังนั้นหากเงินเยนเคลื่อนไหวในรูปแบบนี้ ก็ไม่น่าจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างรุนแรงในภาพรวม
  • เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2558 เพราะได้รับแรงหนุนจากความแข็งแกร่งของการอุปโภคบริโภคและภาคบริการ โดยคาดว่าปีนี้ GDP จะโตได้ 7.4% ซึ่งแม้จะเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำสุดในรอบ 24 ปี แต่เจพีมอร์แกน ยังคงมีมุมมองบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจีนในปี 2558 การปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยหนุนเศรษฐกิจให้แข็งแกร่งขึ้น และรัฐบาลจีนควรจะเดินหน้าการปฏิรูปเศรษฐกิจต่อไป เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการแข่งขัน
  • กระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจรัสเซีย ได้ทบทวนการคาดการณ์เศรษฐกิจของประเทศประจำปี 2558 และคาดการณ์ว่า GDP ในปีนี้จะหดตัวลง 3% หลังจากที่ราคาน้ำมันลดลงมาแตะที่ระดับ 50 ดอลลาร์/บาร์เรล พร้อมคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 12%
  • ดัชนี PMI ภาคการผลิตของยูโรโซนขั้นสุดท้ายในเดือนม.ค.58 ขยายตัว 51.0 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน ภายหลังจากที่สภาพธุรกิจในเยอรมนี, สเปน, เนเธอร์แลนด์ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนธ.ค. 2557 ของยูโรโซนอยู่ที่ 50.6 ทั้งนี้ ดัชนีที่สูงกว่า 50 บ่งชี้ว่า ภาคการผลิตมีการขยายตัวจากเดือนก่อนหน้า แต่ดัชนีที่ต่ำกว่า 50 แสดงให้เห็นถึงภาวะหดตัว
  • สมาคมแลกเปลี่ยนทองคำและเงินของจีน เปิดเผยว่า ราคาทองคำที่ตลาดฮ่องกงเพิ่มขึ้น 180 ดอลลาร์ฮ่องกง ปิดที่ระดับ 11,840 ดอลลาร์ฮ่องกง/ตำลึงในวันนี้ โดยราคาดังกล่าวเทียบเท่ากับ 1,280.76 ดอลลาร์สหรัฐ/ทรอยออนซ์ เพิ่มขึ้น 19.47 ดอลลาร์สหรัฐ ที่อัตราแลกเปลี่ยนล่าสุด 1 ดอลลาร์สหรัฐ/ 7.75 ดอลลาร์ฮ่องกง

แท็ก เงินบาท  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ