กนย.อนุมัตินำ 2 พันลบ.ซื้อน้ำยาง-ยางก้อนถ้วยจนกว่าหมดฤดูปิดกรีด 28 ก.พ.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 19, 2015 17:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ครั้งที่ 1 ประจำปี 2558 ได้พิจารณาตามมติ ครม.ที่อนุมัติให้นำเงิน 2 พันล้านบาท รับซื้อน้ำยางสดและยางก้อนถ้วยตามโครงการมูลภัณฑ์กันชนยางพาราก่อนหมดฤดูปิดกรีดในวันที่ 28 ก.พ.นี้ โดยนับจากนี้อีก 2 เดือนครึ่งจะขับเคลื่อนกลไกแก้ปัญหาราคายาง ในช่วงฤดูเปิดกรีดยางในเดือนพ.ค.นี้ ซึ่งขณะนี้ราคาน้ำยางสดเพิ่มขึ้นเป็น 45.5 บาท/กก. ยางก้อนถ้วย 40 บาท/กก.

ในส่วนหลักเกณฑ์การพิจารณาวิธีซื้อยางก้อนถ้วย และน้ำยางสด ได้มอบหมายให้ กนย.เสนอมายัง ครม.ให้รับทราบ โดยหลักเกณฑ์จะต้องช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยผ่านสหกรณ์ชุมชน หรือกลุ่มเกษตกรและวิสาหกิจชุมชน

"ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลได้ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาราคายาง ทำให้ราคายางแผ่นดิบรมควันชั้น 3 ขยับจาก 55 บาท/กิโลกรัม เป็น 63.15 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ยางแผ่นดิบอยู่ที่ 58 บาท/กิโลกรัม"นายอำนวย กล่าว

ส่วนการระบายยางค้างสต็อกนั้น จะดำเนินการเพื่อไม่ให้กระทบต่อคาราคายางในประเทศ ซึ่งเมื่อถึงฤดูปิดกรีดยางแล้ว ก็สมควรที่จะระบายยางพาราค้างสต็อก แต่จะคำนึงถึงราคาส่งออกยางของผู้ส่งออกด้วย ทั้งนี้ปริมาณที่จะระบายในขณะนี้ไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะเป็นเรื่องยุทธศาสตร์ทางการค้า

อย่างไรก็ดี ไทยยังต้องดำเนินการส่งออกยางภายใต้ MOU ไทย-จีน ที่ต้องดำเนินการส่งออกข้าว 2 แสนตัน และยางพารา 2 แสนตัน ภายใต้ราคาที่ตกลงใน MOU ไว้ด้วย

รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ที่ประชุม กนย. ซึ่งมีตัวแทนกลุ่มเกษตรกรรวมอยู่ด้วย ได้แจ้งการเพิ่มกลุ่มเกษตรจากเดิมมี 5 กลุ่มเป็น 7 กลุ่ม ครอบคลุมเกษตรครบทุกภาค เพื่อนำมติคณะกรรมการยางไปชี้แจงและดำเนินการต่อไป ซึ่งจะทำให้รัฐบาลแก้ปัญหาความเดือดร้อนได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ในส่วน พ.ร.บ.การยางมีการแก้ไขคณะกรรมการยาง 5 คน โดยเพิ่มสัดส่วนเกษตรกรจากเดิม 1 คน เพิ่มเป็น 3 คน ภาครัฐอีก 2 คน

นายอำนวย กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี ย้ำให้เร่งช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถลืมตาอ้าปากได้ และขอให้ทุกฝ่ายมีความสามัคคีกันเพื่อผลักดันอุตสาหกรรมยางให้มีความก้าวหน้า และเป็นอันหนึ่งของโลก พร้อมทั้งสั่งการให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องเสนอแนวทางการใช้ยางในประเทศให้มากที่สุด ซึ่งคาดว่าในปี 2558 จะมีปริมาณความต้องการใช้ยางประมาณ 1 แสนตัน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้รับทราบสถานการณ์ยางพาราของโลกและในประเทศ ซึ่งพบว่าสถานการณ์ยางโลกในขณะนี้อยู่ในช่วงลดลงอย่างมาก เป็นผลจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง และราคายางเทียมอยู่ที่ 35 บาท/กิโลกรัม ซึ่งทำให้ลดการใช้ยางธรรมชาติ เพราะมีราคาที่สูงกว่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ