(เพิ่มเติม) ส.อ.ท.เผยดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ม.ค.58ที่ 91.1 จาก 92.7 ในธ.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 24, 2015 12:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยในเดือนม.ค.58 อยู่ที่ 91.1 ลดลงจากระดับ 92.7 ในเดือนธ.ค.57 โดยค่าดัชนีที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในเดือนม.ค.ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรก หลังจากที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดไตรมาส 4 ของปี 2557 โดยมีปัจจัยลบจากความกังวลต่อการชะลอตัวลงของกำลังซื้อภายในประเทศ โดยเฉพาะกำลังซื้อภาคเกษตร รวมทั้งความผันผวนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน ซึ่งกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย อีกทั้งภาครัฐยังไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการเห็นว่าการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการใช้จ่ายของภาครัฐจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม ประกอบกับในปี 58 จะเริ่มเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ดังนั้นการส่งเสริมการค้าชายแดนและการลงทุนในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านจะเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการขับเคลื่อนภาคการส่งออกไทย ขณะเดียวกันผู้ประกอบการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต การลดต้นทุน และการบริหารความเสี่ยง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกิจการ

ส่วนความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 100.4 ลดลงจาก 101.7 ในเดือนธ.ค.57 โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ราคาสินค้าเกษตรเป็นปัจจัยสำคัญในประเทศตลอดมา แต่วันนี้นโยบายในการผลักดันราคาสินค้าเกษตรแต่ยังไม่ชัดเจน ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นไม่ว่าจะจากหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น จากรถยนต์คันแรก ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำลงไปกว่าครึ่งทำให้รายได้เกษตรกรลดลง หนี้ทั้งหลาย ทั้งดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข รวมทั้งการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณที่รัฐบาลกำลังพยายามดำเนินการอยู่แต่ยังไม่ออกมาเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน รวมทั้งงบลงทุนขนาดกลาง ขนาดเล็กยังไม่เห็นออกมาอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ โดยอยากให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศ รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทให้อยู่ในทิศทางเดียวกับภูมิภาค เร่งแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี(NTBs) รวมถึงเร่งส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการ SMEs ในการใช้นวัตกรรม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและสร้างมูลค่าสินค้าด้วย

นายสุพันธุ์ กล่าวอีกว่า อยากให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างน้อย 0.5% ซึ่งอาจทำให้เงินทุนไหลเข้าลดลงและทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงเมื่อเปรียบกับคู่ค้าของเราที่อ่อนตัวลงมาก ไม่ว่าจะเป็นอียู ญี่ปุ่น แม้แต่มาเลเซียซึ่งเป็นคู่แข่งที่ชัดเจน มีความแข็งแรงมากในอาเซียน เราก็ต้องปรับตัวพอสมควร

พร้อมกันนี้ ประธานส.อ.ท.ยังกล่าวถึงการประชุมสามัญประจำปี 2558 วันจันทร์ที่ 23 มี.ค.58 ซึ่งในงานพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ"การเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันการค้าของประเทศไทย"เนื่องจากปัจจุบันขีดความสามารถในการค้าของประเทศไทยเมื่อเทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมาแทบจะไม่เปลี่ยนแปลง

"เราอยู่อันดับที่ 30 ต้นๆมาตลอด ผิดกับคู่แข่งเช่น อินโดนีเซีย จากอันดับ 50 กว่า วันนี้มาอยู่หลังเราแค่ 2 อันดับ ซึ่งเราต้องดูว่ารัฐบาลชุดนี้จะผลักดันนโยบายร่วมกับภาคเอกชนได้อย่างไร"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ