SCB EIC ชี้ส่งออกไทยยังไม่ฟื้นจากหลายปัจจัยกดดัน คาดทั้งปีโตแค่ 0.8%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 25, 2015 17:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB EIC) มองว่า การส่งออกไทยเริ่มต้นปี 58 ได้ไม่ดีนัก และมีแนวโน้มขยายตัวในระดับต่ำต่อไปในปีนี้ การส่งออกไทยในปีนี้มีปัจจัยหลากหลายที่กดดันการขยายตัว โดยราคาน้ำมันโลกที่ลดลงจะส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และพลาสติกของไทย ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันถึง 15% ต่อการส่งออกทั้งหมด อีกทั้งยังกดดันราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะราคายางพาราและน้ำตาล นอกจากนี้ เศรษฐกิจของคู่ค้าสำคัญของไทยอย่าง จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปต่างมีทิศทางชะลอลง ประกอบกับการที่ไทยถูกตัดสิทธิ GSP จากสหภาพยุโรปในทุกหมวดสินค้า จะส่งผลให้การส่งออกของไทยในปีนี้ขยายตัวในระดับต่ำต่อไป
"อีไอซีคาดว่าทั้งปี 2015 มูลค่าการส่งออกไทยจะขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.8% โดยมีปัจจัยบวกเพียงการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ที่กลับมาฟื้นตัว ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยขยายตัวได้ดีขึ้น" เอกสารเผยแพร่ระบุ

วันนี้ กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าการส่งออกไทยเดือนมกราคม 2558 อยู่ที่ 17,248.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวลง 3.5% ด้านการนำเข้าหดตัวต่อเนื่องในเดือนมกราคมที่ 13.3% มาอยู่ที่ 17,705.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ไทยกลับมาขาดดุลการค้าที่ 456.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยการส่งออกและการนำเข้าของไทยนั้น ยังคงหดตัวต่อเนื่องมาจากเมื่อปีที่แล้ว มูลค่าการส่งออกยางพารายังไม่ฟื้นตัว โดยในเดือนม.ค.หดตัวลงอีกกว่า 40% ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรหลักอื่นๆ เช่น ข้าวและน้ำตาลกลับมาหดตัวอีกครั้งในช่วงต้นปีนี้ หลังจากช่วงปลายปี 57 ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกข้าวและน้ำตาลลดลง 13.0% และ 12.6% ตามลำดับ จากปริมาณการส่งออกที่ลดลง และราคาน้ำตาลที่ลดลงถึงกว่า 5% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เช่นเดียวกับการส่งออกอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปที่หดตัวลง 13.8% ในเดือนม.ค. เป็นผลมาจากการถูกตัดสิทธิพิเศษทางศุลกากร (GSP) จากสหภาพยุโรป ซึ่งส่งผลให้การส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังตลาดสหภาพยุโรปติดลบถึง 19.4% ในเดือนม.ค. ด้านการส่งออกสินค้าที่เชื่อมโยงกับน้ำมันดิบอย่างน้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และพลาสติกนั้น หดตัวลง 28.1% 21.9% และ 10.7% ตามลำดับ หลังจากที่ราคาน้ำมันดิบโลกในเดือนม.ค.หดตัวไปกว่า 50% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาส่งออกของสินค้าดังกล่าวที่มีสัดส่วนราว 15% ต่อการส่งออกทั้งหมดของไทย

การส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้าขยายตัว 3.7% และ 21.2% ตามลำดับในเดือนม.ค. ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของไทย ด้านการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบนั้นขยายตัวกว่า 16% ในเดือนม.ค. ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฐานที่ต่ำเมื่อปีที่แล้ว ประกอบกับการส่งออกรถยนต์อีโคคาร์ (Eco-cars) ไปยุโรปที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้การส่งออกรถยนต์นั่งเพิ่มขึ้นถึง 40.9%

มูลค่าการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่อง โดยในเดือนม.ค.ขยายตัว 6% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในขณะที่การส่งออกไปยังสหภาพยุโรปกลับมาหดตัวที่ 5.6%เนื่องจากสินค้าไทยทุกรายการถูกตัดสิทธิ GSP ในปีนี้ ด้านการส่งออกไปยังญี่ปุ่นและจีนหดตัวต่อเนื่องที่ 7.5% และ 19.7% ตามลำดับ จากเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัวลง อีกทั้งมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดอาเซียนหดตัวลง 0.7% หลังจากการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปของไทยไปยังตลาดอาเซียนถูกกดดันด้วยราคาน้ำมันโลกที่ลดลง

มูลค่าการนำเข้าในเดือนม.ค.ลดลง 13.3% โดยการนำเข้าน้ำมันดิบหดตัวลงกว่า 55% จากราคาน้ำมันโลกที่ลดลง ส่งผลให้การนำเข้าเชื้อเพลิงที่มีสัดส่วนราว 20% ของการนำเข้าทั้งหมดหดตัว 46.8% ในเดือนม.ค. ในขณะที่การนำเข้าสินค้าทุนปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 1.7%ซึ่งเป็นผลมาจากการนำเข้าเครื่องบินและเรือเป็นหลัก แต่การนำเข้าเครื่องจักรกลและส่วนประกอบยังคงหดตัวกว่า 10%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ