บลจ.อเบอร์ดีนให้น้ำหนักลงทุนไทย overweight,PTT มองหุ้นพลังงานมีเสน่ห์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 25, 2015 18:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บลจ.อเบอร์ดีน ให้น้ำหนักการลงทุนในไทยเป็น overweight โดยเฉพาะในช่วงระยะกลางถึงยาว พร้อมมองหุ้นความน่าสนใจในหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันในระดับต่ำ ขณะที่ผู้บริหารปตท.มองหุ้นกลุ่มพลังงานยังมีเสน่ห์จากแผนการปฏิรูปด้านพลังงานของรัฐบาลและสถานการณ์ราคาน้ำมันที่เริ่มนิ่ง เมื่อเทียบกับช่วงปลายปีที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำทำให้ผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและน้ำมันอาจจะกลับมามีกำไรจากสต็อกน้ำมัน(stock gain) ในปีนี้ได้

นายกรวุฒิ ลีนะบรรจง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.อเบอร์ดีน กล่าวว่า ภาครวมตลาดทุนไทยในปัจจุบันถือว่า มูลค่าตลาด (valuation) ไม่ได้อยู่ในระดับที่ถูก โดยมุมมองการจัดการการลงทุนของบลจ.เน้นการลงทุนที่ดูจากปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก ซึ่งนักลงทุนต้องมีความเข้าใจต่อหุ้นที่กำลังจะเข้าไปลงทุนว่ามีการดำเนินธุรกิจแบบใด ทั้งการเติบโตในแง่ของรายได้ กำไรสุทธิ รวมถึงธรรมมาภิบาล

บลจ.อเบอร์ดีน เมืองไทยมีการลงทุนในตลาดหุ้นไทยอยู่ประมาณ 1,500 เหรียญสหรัฐ หรือ 4-5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ อเบอร์ดีน ทั่วโลก มีการลงทุนในหุ้นไทยอีกประมาณ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วมีการลงทุนในหุ้นไทย 5,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.8 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตามแม้มองว่าตลาดหุ้นไทยแพง แต่ยังมีโอกาสของการลงทุนอยู่ โดยบลจ.อเบอร์ดีน ได้ให้น้ำหนักการลงทุน ในไทยเป็น overweight จากการเลือกบริษัทที่น่าลงทุน ซึ่งจะลงทุนระยะกลางถึงยาว 3-5 ปี ขณะที่มองหุ้นกลุ่มค้าปลีก ขนส่ง รับเหมา หรือหุ้นที่ใช้น้ำมันเป็นปัจจัยหลักของต้นทุน น่าสนใจในการเข้าลงทุนในขณะนี้

ด้านนายสุรงค์ บูลกุล นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย และประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน บมจ.ปตท.(PTT) กล่าวว่า ภาพรวมของพลังงานไทย ขณะนี้มีการปฎิรูปครั้งที่ 3 จาก 50 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้วและประสบความสำเร็จ คือในเรื่องของการปฎิรูปการบริหารพลังงานเชื้อเพลิงก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV) โดยปัญหาของ LPG เป็นปัญหาเรื้อรัง และมีการใช้เงินจำนวนมากเพื่อสนับสนุนราคาพลังงานที่ไม่ได้อิงตลาดโลก ซึ่งรวมถึงในอดีตที่ปตท.ต้องนำเข้า LPG เพื่อมาจำหน่ายในราคาถูกกว่าตลาด ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท/ปี รวมถึง การขาดทุนจากการขาย NGV ต่ำกว่าต้นทุนอีก 2 หมื่นล้านบาท/ปี

อย่างไรก็ตามหลังจากนี้รัฐบาลได้มีการปฎิรูปด้านราคา LPG และ NGV เรียบร้อยแล้ว ซึ่งปตท.ก็จะได้รับประโยชน์จากนโยบายดังกล่าวนี้ด้วย

นอกจากนี้ยังมีการปฎิรูปการบริหารเชื้อเพลิง และการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น โดยมีแผนจะใช้เชื้อเพลิงที่มีราคาถูก เช่น ถ่านหิน มากขึ้นนั้นนับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างหนึ่ง เพราะจะช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้า ซึ่งเป็นต้นทุนพื้นฐานการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ เนื่องจากหากไม่มีการควบคุมอัตราค่าไฟฟ้าก็จะส่งผลกระทบระยะยาวต่อฐานการผลิตพลังงาน และอุตสาหกรรมในประเทศ จึงต้องการการบริหารเชื้อเพลิงที่มีประสิทธิภาพ และลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ

นายสุรงค์ กล่าวอีกว่า นโยบายของรัฐบาลอีกเรื่องหนึ่งคือการเร่งหาสำรองพลังงาน โดยจะมีการเปิดสัมปทานสำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 21 ซึ่งรัฐบาลคงจะเลือกวิธีที่มีความเหมาะสมกับประเทศมากที่สุด จากปัจจุบันที่มีอยู่ 3 ระบบด้วยกัน ได้แก่ ระบบสัมปทาน ,ระบบแบ่งปันผลผลิต(PSC) และการจ้างผลิต

ขณะเดียวกันในอนาคตไทยก็จะมีการเปิดเสรีการให้บริการท่อส่งก๊าซฯแก่บุคคลที่สาม โดยปตท.จะแยกบัญชีระบบท่อส่งก๊าซฯที่มีอยู่ออกมาเป็นบริษัท ซึ่งหลังจากที่ศาลปกครองมีคำตัดสินชัดเจนแล้วว่าปตท.ได้คืนสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องให้กับภาครัฐไปแล้ว หลังจากนี้คงจะรอความชัดเจนจากภาครัฐบาลว่าจะเดินหน้าอย่างไรต่อไป แต่ในส่วนของปตท.มีความพร้อมและยังคงเดินหน้าแยกระบบบัญชีออกมาเพื่อให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยคาดว่าการแยกท่อส่งก๊าซฯและพร้อมจะเปิดให้บริการแก่บุคคลที่สามได้คงจะใช้เวลาประมาณ 9 เดือนหรือในราวต้นปีถึงกลางปีหน้า

"หุ้นกลุ่มพลังงานก็ยังถือว่ามีเสน่ห์ จากการเริ่มเห็นว่าจะมี stock gain และราคาน้ำมันเริ่มมีการปรับตัวมาใกล้ระดับ 60 เหรียญต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับราคามาตรฐาน โดยเชื่อว่าราคาน้ำมันน่าจะนิ่งได้ ความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันจะน้อยลง และหุ้นพลังงานจะกลับมา perform ได้ในระดับใกล้เคียงเดิม"นายสุรงค์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ