"บัณฑิต"รับประเมินศก.ไทยยาก เหตุศก.โลกเสี่ยงภาวะเงินฝืด-อัตราเงินเฟ้อติดลบ

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday March 7, 2015 09:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบัณฑิต นิจถาวร กรรมการอำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และประธานสมาคมตราสารหนี้ไทย เปิดเผยว่า ภาพเศรษฐกิจในปีนี้ประเมินยากทั้งในและต่างประเทศ เศรษฐกิจโลก มีปัญหา ทั้งอัตราดอกเบี้ย ค่าเงิน มีความซับซ้อน เศรษฐกิจโลกชะลอตัวเสี่ยงภาวะเงินฝืดอัตราเงินเฟ้อติดลบ เรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาต่อเนื่องมา 4-5 ปีจากวิกฤติเศรษฐกิจในอดีต แม้ที่ผ่านมาประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เป็นตัวขับเคลื่อนมาโดยตลอด แต่สถานการณ์หนี้เริ่มสูงทำให้เศรษฐกิจชะลอลง

ส่วนประเทศอุตสาหกรรมหลักมีเพียงสหรัฐฯที่ดูดีขึ้นแต่อีกหลายประเทศชะลอตัว การฟื้นตัวไม่เข้มแข็งออำนาจซื้อหายไป ราคาน้ำมันเป็นสิ่งสะท้อนว่าอำนาจซื้อเศรษฐกิจโลกลดลง ดึงสินค้าเกษตรโภคภัณฑ์ ฉุดการค้าบริการชะลอตัว ราคาสินค้าลดลงทำให้คนไม่ใช้จ่าย ผู้ผลิตจะลดราคาสินค้าลง ทำให้หลายประเทศเริ่มหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ธนาคารกลางมากกว่า 20 ประเทศปรับลดดอกเบี้ยลง ส่วนสหรัฐฯมีแนวโน้มชะลอการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นออกไป เป็นสิ่งที่ต้องระวัง คือกลุ่มประเทศที่ดูเปราะบางคือประเทศที่เคยส่งออกน้ำมัน จะมีปัญหาในการชำระหนี้ ส่วนประเทศนำเข้าน้ำมันจะดีขึ้น ทั้งนี้หลายฝ่ายคาดหวังให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง และการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้น แต่บริบทเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนไป การขยายตัวจะอยู่ในระดับที่ต่ำต่อเนื่อง

"ภาพของเศรษฐกิจไทยปีที่ผ่านมาขยายตัวอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งไม่ได้มีปัจจัยเข้ามาขับเคลื่อน ตัวเลขเศรษฐกิจในเดือน ม.ค. การฟื้นตัวยังอยู่ในระดับต่ำ การบริโภคไม่ฟื้น สินค้าเกษตรตกต่ำ รายได้ไม่เพิ่ม และมีหนี้ครัวเรือน ทำให้สินเชื่อชะลอตัวตามไปด้วย การเติบโตตามเป้าหมายที่หลายคนมองไว้เป็นสิ่งที่น่าตั้งคำถามว่าสิ่งไหนจะเป็นตัวขับเคลื่อนที่ให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดี"นายบัณฑิต กล่าวระหว่างการเสวนาทางด้านเศรษฐกิจในหัวข้อเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยในปี 2558 จะฟื้นหรือฟุบ

ส่วนราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงในประเทศปรับตัวลดลงเพียง 20% จากตลาดโลกที่ลดลง 40% ทำให้การปรับตัวลดลงราคาน้ำมันไม่ส่งผ่านไปยังผู้บริโภค กระทบต่อความสามารถการใช้จ่าย อีกทั้งการเบิกจ่ายภาครัฐทำได้ไม่เต็มที่ การส่งออกลดลงเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน การลงทุนภาคเอกชนไม่ขับเคลื่อน ภาคเอกชนพร้อมจะลงทุนแต่นโยบายรัฐบาลไม่ชัดเจน และเลือกที่จะลงทุนในต่างประเทศมากกว่า

สิ่งที่น่าห่วงคือประเทศไทยยังไม่เห็นปัจจัยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตสูงช่วง 20 ปี ที่ผ่านมาไทยมีจุดแข็งที่ลงทุนภาครัฐและการส่งออก เอกชนมีศักยภาพกางทุน ทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนมาได้ แต่ใน 10ปีข้าหน้ายังไม่มีสิ่งที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตเข้มแข็ง ไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างไม่มีจุดแข็งในการแข่งขันเหมือนสมัยก่อน ถ้าไม่แก้ไขจะจำกัดการขยายตัวของเศรษฐกิจ ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยมีพื้นฐานแข็งแรง มีศักยภาพ แต่เราไม่บริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ

ส่วนภาวะการเมืองในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเห็นชัดว่ากระทบเศรษฐกิจถ้าการเมืองไม่เข้มแข็งจะทำให้เศรษฐกิจเสียโอกาส อนาคตหากยังมีความไม่แน่นอนจะสร้างความไม่มั่นใจกับนักลงทุนต่างชาติได้ ประเทศไทยต้องบริหารจัดการเพราะมีส่วนสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่จะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นในครึ่งปีหลัง ต้องช่วยให้ราคาน้ำมันสะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น รวมไปถึงภาครัฐบาลเดิมเน้นให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับบริษัทขนาดใหญ่ ต้องเอาเงินไปกระตุ้นใช้จ่ายระดับรากหญ้ามากขึ้น รวมไปถึงเน้นการใช้จ่ายในการสร้างงาน จะช่วยสร้างรายได้สร้างอำนาจซื้อให้คนท้องถิ่นมากขึ้น รวมไปถึงการเบิกจ่ายภาครัฐบาลเป็นสิ่งที่ต้องเร่งรัด รวมไปถึงผลักดันโครงการขนาดใหญ่ให้เกิดขึ้นได้จริง แม้จะมีการระมัดระวังการคอร์รัปชั่น แต่เราต้องมีการเร่งกระบวณการต่างๆให้ชัดเจน ผลักดันโครงการต่างๆให้เดินหน้าได้

สำหรับตลาดหุ้นไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไม่สะท้อนกับราคาหุ้น ผลประกอบการไม่ดีแต่หุ้นขึ้น15%แสดงให้เห็นว่าตัวขับเคลื่อนไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐานแต่เป็นเรื่องสภาพคล่องที่มีอยู่ล้นโลก จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐิจ (QE) ของประเทศต่างๆ และในอนาคตมี QE ของยุโรปและญี่ปุ่น ถ้าเงินเข้ามาเยอะหุ้นอาจจะปรับตัวเร็วขึ้น แต่ปีนี้เงินคงไม่ไหลเข้าเหมือนในสมัยก่อน เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งอาจทำให้เงินทุนไหลกลับไปสหรัฐฯ จะส่งผลให้ความผันผวนเงินทุนไหลออกจะมีมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ