อีสานโพลเผยปชช.กลัวการขึ้น VAT เป็น 10% มากกว่าการบังคับใช้ภาษีที่ดินฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 18, 2015 15:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน(ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยคนไทยส่วนใหญ่สนับสนุนให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราที่ไม่สูงมากและลดหย่อนให้กับกลุ่มรายได้น้อย ขณะเดียวกันประชาชนส่วนใหญ่กลัวเรื่องการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต)จาก 7% เป็น 10% มากกว่าการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

สำหรับที่ดินเพื่อการเกษตรที่เก็บอัตราภาษีอยู่ที่ล้านละ 500 บาท/ปี กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 53.0 ไม่เห็นด้วย ขณะที่อีกร้อยละ 47.0 เห็นด้วย โดยเสนออัตราภาษีที่ควรเก็บในอัตราประมาณล้านละ 150 บาท/ปี และหากครอบครองที่ดินเพื่อการเกษตรน้อยกว่า 15-20 ไร่ ควรได้รับการงดเว้นภาษี

ที่ดินและสิ่งก่อสร้างเชิงพาณิชย์ที่เก็บอัตราภาษีอยู่ที่ล้านละ 2,000 บาท/ปี กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 62.0 เห็นด้วย ขณะที่อีกร้อยละ 38.0 ไม่เห็นด้วย โดยเสนออัตราภาษีที่ควรเก็บในอัตราประมาณล้านละ 580 บาท/ปี

ที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่เก็บอัตราภาษีอยู่ที่ล้านละ 2,000 บาท/ปี กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 56.2 เห็นด้วย ขณะที่ร้อยละอีกร้อยละ 43.8 ไม่เห็นด้วย โดยเสนออัตราภาษีที่ควรเก็บในอัตราประมาณล้านละ 550 บาท/ปี

ที่อยู่อาศัยหรือบ้านหลังแรกในเขต กทม.และปริมณฑลราคาไม่เกิน 2.5 ล้านบาทไม่ต้องมีการจ่ายภาษี กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 85.8 เห็นด้วย ขณะที่อีกร้อยละ 14.2 ไม่เห็นด้วย โดยเสนอมูลค่าของที่อยู่อาศัยหลังแรก ควรมีมูลค่าประมาณไม่เกิน 6.7 ล้านบาท จึงจะไม่ต้องเสียภาษี

ที่อยู่อาศัยหรือบ้านหลังแรกในต่างจังหวัดราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาทไม่ต้องมีการจ่ายภาษี กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 81.9 เห็นด้วย ขณะที่อีกร้อยละ 18.1 ไม่เห็นด้วย โดยเสนอว่าที่อยู่อาศัยหลังแรกควรมีมูลค่าประมาณไม่เกิน 4.9 ล้านบาทจึงจะไม่ต้องเสียภาษี

สำหรับที่อยู่อาศัยหรือบ้านหลังแรกในเขต กทม.และปริมณฑลที่มีมูลค่าตั้งแต่ 2.5-5 ล้านบาท การเก็บอัตราภาษีอยู่ที่ล้านละ 500 บาท/ปี กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 76.0 เห็นด้วย ขณะที่อีกร้อยละ 24.0 ไม่เห็นด้วย โดยเสนออัตราภาษีที่ควรเก็บในอัตราประมาณล้านละ 300 บาท/ปี

ที่อยู่อาศัยหรือบ้านหลังแรกในต่างจังหวัด ที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1.5-5 ล้านบาท การเก็บอัตราภาษีอยู่ที่ล้านละ 500 บาท/ปี กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 70.0 เห็นด้วย ขณะที่อีกร้อยละ 30.0 ไม่เห็นด้วย โดยเสนออัตราภาษีที่ควรเก็บในอัตราประมาณล้านละ 160 บาท/ปี

ที่อยู่อาศัยที่ไม่ใช่หลังแรกต่ำกว่า 5 ล้านบาท อัตราภาษีอยู่ที่ล้านละ 1,000 บาท/ปี กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 67.1 เห็นด้วย ขณะที่อีกร้อยละ 32.9 ไม่เห็นด้วย โดยเสนออัตราภาษีที่ควรเก็บในอัตราประมาณล้านละ 360 บาท/ปี

และที่อยู่อาศัยทุกประเภทที่มีมูลค่าตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป โดยอัตราภาษีอยู่ที่ล้านละ 1,000 บาท/ปี กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 68.3 เห็นด้วย ขณะที่อีกร้อยละ 31.7 ไม่เห็นด้วย โดยเสนออัตราภาษีที่ควรเก็บในอัตราประมาณล้านละ 540 บาท/ปี

นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 67.3 เห็นว่า บ้านและที่อยู่อาศัยของผู้สูงวัย ควรได้รับการลดหย่อนหรืองดเว้นภาษี ขณะที่อีกร้อยละ 22.1 เห็นว่าควรลดหย่อนภาษี 50% ร้อยละ 7.3 เห็นว่าควรลดหย่อนภาษี 25% และอีกร้อยละ 3.3 เห็นว่าไม่ควรลดหย่อน

และหากต้องเลือกระหว่างการถูกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกับการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 10% กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 54.9 เลือกการถูกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ร้อยละ 19.0 เลือกการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 10% และอีกร้อยละ 26.1 ยังไม่แน่ใจ

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน(ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากประชาชนทั่วประเทศ 1,379 ราย ระหว่างวันที่ 14-17 มี.ค.ที่ผ่านมา ด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์และการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 56.6 มีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นประจำทุกปี ขณะที่ร้อยละ 28.9 ไม่ได้เสียภาษีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง และอีกร้อยละ 14.5 ไม่แน่ใจว่าทางครอบครัวมีการเสียภาษีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างหรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ