พณ.ผลักดันการส่งออกตลาดใหม่ หลังกำลังซื้อตลาดหลักหดตัวตามภาวะศก.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 26, 2015 13:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยแนวทางในการดำเนินการด้านการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ จะมุ่งเน้นการผลักดันส่งออกไปยังตลาดใหม่เพิ่มขึ้น เช่น อาเซียน จีน ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา รัสเซีย และ CIS ควบคู่ไปกับการรักษา ตลาดหลักคือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป เพื่อให้การส่งออกของไทยสามารถกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น หลังภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักของไทยในปัจจุบันฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จึงมีการทบทวนตัวเลขคาดการณ์ทางเศรษฐกิจลง จากเดิมขยายตัวร้อยละ 3.8 เหลือร้อยละ 3.5 เนื่องจากกำลังซื้อในตลาดโลกลดลง โดยเฉพาะสหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่นและอาเซียน ทำให้กระทบต่อการส่งออกของไทย อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง อาทิ จีน สหรัฐอเมริกา อินเดีย และอินโดนีเซีย ก็พบว่าการส่งออกของประเทศเหล่านั้นต่างก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

ปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกของไทย ได้แก่ สถานการณ์เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ความต้องการสินค้าลดลง, ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทรุดตัว กระทบต่อสินค้าส่งออกที่มีความเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรยังไม่ฟื้นตัว และราคาทองคำที่ผันผวนส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออก รวมทั้งค่าเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินของประเทศคู่ค้า/คู่แข่ง โดยเฉพาะญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป ส่งผลให้สินค้าไทยในสายตาของผู้ซื้อในตลาดเหล่านั้นแพงขึ้น

ทั้งนี้ มูลค่าการค้าระหว่างประเทศในรูปของเงินเหรียญสหรัฐฯ การส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ 2558 มีมูลค่า 17,230 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ -6.14 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) และในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2558 มีมูลค่า 34,478 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ -4.82 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) ในขณะที่การนำเข้าเดือนกุมภาพันธ์ 2558 มีมูลค่า 16,840 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 1.47 (YoY) ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เกินดุล 390 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่มูลค่าการค้าระหว่างประเทศในรูปของเงินบาท การส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ 2558 มีมูลค่า 558,292 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -6.78 (YoY) และในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2558 มีมูลค่า 1,121,510 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -4.60 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) ในขณะที่การนำเข้าเดือนกุมภาพันธ์ 2558 มีมูลค่า 552,075 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.81 (YoY) ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เกินดุล 6,217 ล้านบาท

ด้านการส่งออกสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตร ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ลดลงร้อยละ -12.5 (YoY) ตามทิศทางของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะยางพาราซึ่งเป็นสินค้าเกษตรส่งออกอันดับหนึ่งของไทย ลดลงร้อยละ -38.8 (YoY) ตามราคายางพาราที่ปรับลดลงเนื่องจากผลผลิตที่มีปริมาณมากและความต้องการในตลาดโลกยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร เช่นเดียวกับสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรหลักอื่นๆ เช่น ข้าว น้ำตาล อาหารทะเลแช่งแข็ง กระป๋องและแปรรูป ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ที่ยังมีมูลค่าการส่งออกลดลงเช่นกัน อย่างไรก็ดี ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป สามารถส่งออกได้เป็นมูลค่าสูงขึ้นร้อยละ 7.2 (YoY) เนื่องจากญี่ปุ่นยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าไก่สดจากไทย เครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 10.3 (YoY) และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง สูงขึ้นร้อยละ 0.9 (YoY)

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ลดลงร้อยละ -3.7 (YoY) จากปัจจัยหลักคือ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ทรุดตัวลง เนื่องจากปริมาณผลผลิตล้นตลาด กดดันให้ราคาส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันดิบหรือเป็นอุตสาหกรรมที่มีโครงสร้างการใช้วัตถุดิบซึ่งมาจากการกลั่นปิโตรเลียมค่อนข้างสูง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติกปรับตัวลดลงตามเช่นกัน โดยลดลงที่ร้อยละ -26.8, -20.3 และ -12.3 (YoY) ตามลำดับ นอกจากนั้น การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญอย่างทองคำที่ลดลง ร้อยละ -66.0 (YoY) เนื่องจากระดับราคาทองคำที่ปรับตัวลดลง ทำให้ผู้ส่งออกชะลอการส่งออกและหันไปนำเข้าเพื่อเก็งกำไรแทน

ทั้งนี้ หากไม่รวมสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและทองคำ มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 จะลดลงร้อยละ -2.4 (YoY) โดยสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมจะมีอัตราขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.9 สินค้าสำคัญที่เติบโตต่อเนื่อง ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ ซึ่งขยายตัวร้อยละ 47.9, 17.1, 8.2 และ 12.8 ตามลำดับ

ตลาดส่งออก การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาขยายตัวร้อยละ 5.1 (YoY) เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ตามปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ สินค้าสำคัญที่ขยายตัวได้ดีในตลาดสหรัฐอเมริกา ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สูงขึ้นร้อยละ 17.2 โทรทัศน์ สูงขึ้นร้อยละ 39.2 อัญมณีและเครื่องประดับ สูงขึ้นร้อยละ 13.6 เป็นต้น เช่นเดียวกับตลาด CLMV ที่มีอัตราการขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 7.0 (YoY) โดยเฉพาะกัมพูชาและเมียนมาร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการค้าชายแดน ในขณะที่การส่งออกไปยังตลาดหลักอย่างญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป (15) ลดลงร้อยละ -11.7 และ -4.7 (YoY) ตามลำดับ เป็นผลจากเศรษฐกิจทั้งสองประเทศฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ ประกอบกับการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย (QE) ส่งผลให้ค่าเงินเยนและค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับค่าเงินบาท ทำให้ยอดคำสั่งซื้อชะลอตัว การส่งออกไปจีนก็ลดลงร้อยละ -15.1 (YoY) ตามการส่งออกยางพาราที่ยังลดลงต่อเนื่องและน้ำมันสำเร็จรูปที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ประกอบกับเศรษฐกิจจีนมีสัญญาณชะลอตัว

โครงสร้างการนำเข้า ขยายตัวในเกือบทุกกลุ่มสินค้า ได้แก่ สินค้าทุน สินค้าวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป สินค้าอุปโภค/บริโภค และสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง ขยายตัวร้อยละ 3.9, 12.7, 31.6 และ 8.4 (YoY) ตามลำดับ โดยเฉพาะส่วนประกอบยานยนต์ที่กลับมาขยายตัวในรอบ 20 เดือน สะท้อนแนวโน้มการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศเริ่มกลับมาฟื้นตัว ขณะที่มูลค่าการนำเข้ากลุ่มเชื้อเพลิงยังลดลงต่อเนื่อง ที่ร้อยละ -36.3 (YoY) ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกหดตัวสูง ส่งผลให้การนำเข้าน้ำมันดิบลดลงร้อยละ -45.0 (YoY) โดยที่ปริมาณนำเข้ายังคงขยายตัวที่ร้อยละ 15.3 (YoY)

อย่างไรก็ตาม ภาวะการค้าของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านผ่านช่องทางการค้าชายแดนและผ่านแดน ขยายตัวต่อเนื่อง มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 7.9 ของมูลค่าการค้ารวมของไทย โดยมูลค่าการค้าชายแดน (มาเลเซีย เมียนมาร์ สปป.ลาว กัมพูชา) เดือนกุมภาพันธ์ 2558 มีมูลค่า 78,082.7 ล้านบาท สูงขึ้น ร้อยละ 4.7 (YoY) โดยไทยทำการค้าชายแดนกับมาเลเซียสูงที่สุดมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 46.6 ของการค้าชายแดนรวม ซึ่งลดลงร้อยละ -13.4 (YoY) รองลงมา ได้แก่ เมียนมาร์ สปป.ลาว และกัมพูชา โดยขยายตัวร้อยละ 59.4 ร้อยละ 0.9 และ ร้อยละ 24.2 (YoY) ตามลำดับ และในภาพรวมไทยได้ดุลการค้าชายแดนรวม 4 ประเทศ เป็นมูลค่า 11,585.2 ล้านบาท ขณะที่การค้าผ่านแดน (สิงคโปร์ จีนตอนใต้ เวียดนาม) เดือนกุมภาพันธ์ 2558 มีมูลค่า 9,398.4 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -12.6 (YoY) โดยภาพรวมการค้าผ่านแดนไทยทำการค้ากับจีนตอนใต้สูงสุด ขยายตัวร้อยละ 35.5 (YoY) รองลงมาได้แก่ เวียดนาม ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 32.8 (YoY) ขณะที่การค้าผ่านแดนกับสิงคโปร์ ลดลงร้อยละ -56.8 (YoY)

อนึ่ง เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2558 ทางกระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับทูตพาณิชย์จำนวน 63 แห่ง ซึ่งนำคณะผู้ซื้อจากต่างประเทศมาเจรจาการค้าในงานแสดงสินค้า และได้ประเมินสถานการณ์ของตลาดส่งออกร่วมกัน โดยมีแนวทางที่จะดำเนินการต่อไปดังนี้ 1.ส่งเสริมการค้าและจัดคณะผู้แทนการค้าระดับสูงไปเจรจาการค้าเพิ่มมากขึ้นตามแผนที่วางไว้อย่างชัดเจนในแต่ละตลาด โดยกำหนดยุทธศาสตร์สินค้าที่มีศักยภาพ และยุทธศาสตร์การเจาะกลุ่มผู้บริโภคตามความเหมาะสมในแต่ละตลาด 2.อำนวยความสะดวกทางการค้าให้มากขึ้น โดยจะหารือกับภาคเอกชนและรวบรวมมาตรการที่มีผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ เช่น ด้านโลจิสติกส์และพิธีการศุลกากร เป็นต้น และนำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาการส่งออกซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อจะได้มีการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

3.เพิ่มช่องทางการค้าใหม่ให้กับผู้ค้าไทย เช่น ตลาดตะวันออกกลาง CIS และรัสเซีย เป็นต้น และให้มีการเจรจาเพื่อแก้ปัญหาการค้าในระยะสั้นผ่านคณะกรรมการของทั้งสองฝ่ายจากแต่ละประเทศ รวมทั้งเพิ่มการทำ FTA กับประเทศใหม่ๆ ได้แก่ ปากีสถานและตุรกี 4.เพิ่มช่องทางการค้าผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในแต่ละตลาด 5.พัฒนา SMEs ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในระบบเศรษฐกิจของไทย และผลักดันให้ SMEs ที่มีพัฒนาการในการส่งออกให้ขยายการค้าออกไปยังตลาดต่างประเทศมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ