วิจัยกสิกรฯ คาดส่งออกไทยฟื้นครึ่งปีหลัง ลุ้นทั้งปีอาจไม่มีการขยายตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 26, 2015 15:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า จากการที่ตัวเลขการส่งออกในเดือน ก.พ.58 หดตัวลงร้อยละ 6.14 ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประเมินว่ามูลค่าการส่งออกของไทยน่าจะยังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ก่อนจะเริ่มทยอยปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 2/2558

ทั้งนี้ การส่งออกอาจฟื้นตัวไม่ทันภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ท่ามกลางผลกระทบจากสัญญาณที่อ่อนแอในภาคการผลิตของหลายๆ ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย และผลเชิงลบจากการที่ราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบที่ต่ำกว่าระดับในช่วงเดียวกันปีก่อนค่อนข้างมาก

"คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าอาจหดตัวลงร้อยละ 3.9 ในไตรมาส 1/58 และอาจบันทึกค่าติดลบต่อเนื่องจนถึงช่วงปลายๆ ไตรมาส 2/58 ซึ่งย่อมเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้ภาพรวมการส่งออกในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 มีความเสี่ยงที่จะหดตัวลงมากกว่าร้อยละ 2.0" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แนวโน้มการส่งออกของไทยอาจเริ่มทยอยฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 ท่ามกลางสัญญาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่น่าจะเริ่มมีภาพที่ชัดเจนมากขึ้น(จากอานิสงส์ของมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจที่แต่ละประเทศได้ดำเนินการตั้งแต่ช่วงต้นปี) ขณะที่หากทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกกลับมาเคลื่อนไหวในกรอบที่มีเสถียรภาพมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ก็อาจช่วยลดทอนแรงฉุดมีต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำมัน(ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ) และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันหรือราคาน้ำมัน(อาทิ เคมีภัณฑ์, เม็ด/ผลิตภัณฑ์พลาสติก, ยางพารา/ผลิตภัณฑ์ยาง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง) ลงด้วยเช่นกัน

พร้อมประเมินว่า การฟื้นตัวของมูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังอาจจะยังคงอยู่ในกรอบที่จำกัด เนื่องจากสินค้าส่งออกของไทยจะยังคงต้องรับมือกับหลายโจทย์ที่ต่อเนื่องจากปีก่อน ทั้งสถานการณ์การแข่งขันทางด้านราคาและปริมาณผลผลิตจากประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรรายการสำคัญ ตลอดจนข้อจำกัดทางเทคโนโลยีในการผลิตสินค้าที่ยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการ/เทรนด์ในตลาดโลก

ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงยังคงมีมุมมองที่ระมัดระวังในการประเมินภาพรวมของสถานการณ์การส่งออกในช่วงที่เหลือของปี และคาดการณ์ว่าการส่งออกในปี 2558 จะขยายตัวที่ร้อยละ 0.0 (โดยมีกรอบคาดการณ์ในช่วงติดลบร้อยละ 1.0 ถึง ขยายตัวร้อยละ 2.0)

ดังนั้น ความหวังต่อการกลับมาขยายตัวได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายการส่งออกที่ร้อยละ 4 ในปีนี้จะเพิ่มมากขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกภาคส่วนร่วมมือกันผลักดันให้มูลค่าการส่งออกรายเดือนเพิ่มขึ้น จากที่มีค่าเฉลี่ยประมาณ 1.72 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือนในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.58 กลับไปอยู่ใกล้ระดับ 2.0 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือน หรือต้องมีอัตราการขยายตัวของการส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนที่ร้อยละ 6.0 ในช่วง 10 เดือนที่เหลือของปี 2558


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ