รมว.คมนาคม เผยญี่ปุ่นยอมผ่อนเกณฑ์คุมเข้มการบินจากไทยเซ็น MOU 2เม.ย.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 1, 2015 14:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม กล่าวว่า วันนี้ได้ประชุมร่วมกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม, นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม, นายวรเดช หาญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงคมนาคม, นายสมชาย พิพุธวัฒน์ อธิบดีกรมการบินพลเรือน เพื่อพิจารณาร่างบันทึกความเข้าใจ(MOU) ซึ่งกรมการบินเรือนของประเทศญี่ปุ่น หรือ Japan Civil Aviation Bureau (JCAB)ส่งมาให้กรมการบินพลเรือน(บพ.) ของไทยพิจารณาเมื่อวานนี้(31 มี.ค.) โดยเห็นชอบตามร่าง MOU และลงนามร่วมกันระหว่าง บพ.และ JCAB ในด้านความร่วมมือเพื่อให้เกิดความปลอดภัย และสอดคล้องกับข้อตกลงที่เคยทำไว้เมื่อ พ.ย.55

ซึ่งภายในวันนี้ บพ.จะส่งอีเมล์ไปถึง JCAB เพื่อตอบรับ และ Mr.Akihiko Tamura ผู้อำนวยการ JCAB จะเดินทางมาลงนามใน MOU ร่วมกับนายสมชาย พิพุธวัฒน์ อธิบดีกรมการบินพลเรือน ในวันพรุ่งนี้(2 เม.ย.) ช่วงบ่ายที่กรมการบินพลเรือน

ทั้งนี้ JCAB ได้กำหนดรายละเอียดใน MOU เน้นการปลดล็อคข้อบกพร่องที่มีนัยต่อความปลอดภัย(SSC) ในระยะสั้น ส่วนสายการบินที่ได้ขอทำการบินในช่วง 1เม.ย.-31 พ.ค.58 รวม 60 วันนั้นจะต้องปฎิบัติตามเงื่อนไขใน MOU คือจะอนุญาตให้สายการบินของไทยทำการบินได้ก็ต่อเมื่อเป็นเครื่องบินของสายการบินประเทศไทยที่เป็นเที่ยวบินประจำ และเช่าเหมาลำที่บินในเส้นทางไป-กลับประเทศญี่ปุ่นไม่เกี่ยวกับประเทศอื่น โดยเช่าเหมาลำจะให้เฉพาะที่เคยให้บริการอยู่เดิม และต้องทำการบินในเส้นทางที่เคยให้บริการเดิม, ทำการบินด้วยอากาศยานที่เคยให้บริการเดิม

"ปกติเมื่อเครื่องบินลงจอดที่สนามบินญี่ปุ่น จะมีการสุ่มตรวจอยู่แล้ว แต่สายการบินสัญชาติไทยจะถูกตรวจถี่มากขึ้น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นประเทศใดที่ต้องการสุ่มตรวจสายการบินของประเทศไทยเป็นกรณีพิเศษ ไม่มีปัญหา" รมว.คมนาคม กล่าว

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า การแก้ไขผลกระทบตามโครงการตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล(USOAP) ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ICAO) ซึ่งพบประเด็นสำคัญ 2 ประเด็น คือ การออกใบรับรองอนุญาต(AOC) ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน และอำนาจในการอนุญาตให้มีการขนส่งสินค้าอันตรายยังไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในกรณีของการบินบนพื้นน้ำและกรณีที่เกิดสภาพอากาศนั้นจะดำเนินการอย่างเต็มที่และสรุปแผนแก้ไขฉบับใหม่รายงานต่อ ICAO ในวันที่ 6 เม.ย.นี้ และหวังว่าทาง ICAO จะสบายใจมากขึ้น

พร้อมเชื่อมั่นต่อกรณีที่ไทยจะใช้มาตรการพิเศษ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 44 มาช่วยเร่งรัดกระบวนการทั้งการจัดตั้งองค์กร การปรับโครงสร้าง การแก้ไขบทบาทหน้าที่ บพ.เพื่อปลดล็อค SSC โดยเร็ว

ทั้งนี้ บพ.จะเดินทางไปเกาหลีใต้ในวันพรุ่งนี้(2 เม.ย.) จากนั้นจะไปจีน ออสเตรเลีย และเยอรมนี เพื่อทำความเข้าใจก่อนที่ประเทศเหล่านี้จะมีปฎิกิริยาที่ส่งผลกระทบเหมือนกรณี JCAB และให้สถานการณ์คลี่คลาย ซึ่งขณะนี้ทั้งเกาหลีใต้ และจีน ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ส่วนกรณีที่จีนไม่ให้เพิ่มเช่าเหมาลำของไทยนั้น เป็นเรื่องที่จีนมีเที่ยวบินมากในช่วงเม.ย. และไม่ให้เพิ่มกับสายการบินหลายประเทศไม่ใช่สายการบินของไทยอย่างเดียว

ด้านนายวรเดช หาญประเสริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การแก้ไขปัญหากรณีสินค้าอันตรายนั้นได้ออกกฎข้อบังคับ กบร.เพื่อให้การกำกับดูแลที่สอดคล้องกับมาตรฐาน ICAO ซึ่งไม่น่ามีปัญหา ส่วนการออกใบรับรองอนุญาต (AOC) นั้นมีหลายขั้นตอน โดยกฎเกณฑ์ในการตรวจสอบเบื้องต้นมี 60-70 เรื่องที่เกี่ยวข้อง จะคัดในส่วนที่เกี่ยวกับ SSC ออกมา ซึ่งมีทั้งประกาศกฎกระทรวงและ กฎ กบร.ซึ่งจะทราบรายละเอียดในวันที่ 3 เม.ย.และจะเสนอขอแก้ไขต่อไป โดยจะพิจารณาว่าจะเสนอตามขั้นตอนปกติ หรือเข้ามาตรา 44

ทั้งนี้ บพ.ได้ทำแผนจ้างบุคลากร 13 คน วงเงิน 23 ล้านบาทเสร็จแล้ว จะเสนอรมว.คมนาคมเห็นชอบ โดยค่าจ้างมีตั้งแต่ 1 แสน -3 แสนบาทต่อคน ส่วนการอบรมจะต้องเสนอขอเพิ่มงบประมาณอีก 20 ล้านบาท จากเดิมที่มี 5-6 ล้านบาทเท่านั้น กรณีการปรับปรุงระบบเป็นดาต้าเบส วงเงิน 80 ล้านบาท ได้เลือกระบบแล้วโดยจะว่าจ้างทำระบบและเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 3 เดือนหรือใน 15 มิ.ย.58 ตามที่ ICAO ต้องการ ซึ่งจะต้องทบทวนข้อมูลของสายการบิน 64 สายการบินให้เสร็จใน 1 เดือน ซึ่งมี 28 สายการบินที่ทำการบินระหว่างประเทศ โดยทำกระบวนการเสร็จ จะเชิญ ICAO มาตรวจแผนปรับปรุงอีกครั้ง ถ้าสมบูรณ์จะปลด SSC ถ้าไม่สมบูรณ์และ ICAO ไม่ปลดล็อคจะเกิดปัญหาแน่นอนเพราะจะกระทบไปถึงสายการบินประจำด้วย ส่วนการปรับโครงสร้าง บพ.นั้นจะต้องดำเนินการให้เสร็จใน 8 เดือน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ