ธปท.ห่วงส่งออกปี 58 ติดลบต่อเนื่อง 3 ปีซ้อน ฉุด GDP ปีนี้โตไม่ถึง 3.8%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 9, 2015 15:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายดอน นาครธรรพ ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แนะให้จับตาเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ของปีนี้ โดยเฉพาะภาคการส่งออก ซึ่งปกติจะเป็นช่วงไฮซีซั่นของการส่งออกในช่วงไตรมาส 2 และ 3 โดยขณะนี้ประเมินว่ามูลค่าการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีจะต้องอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1.92 หมื่นล้านดอลลาร์ จึงจะสามารถผลักดันให้การส่งออกปีนี้ขยายตัวได้ 0.8% ตามที่ธปท.คาดการณ์ไว้

แต่หากมูลค่าการส่งออกในช่วงที่เหลือเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ ก็จะทำให้การส่งออกปีนี้จะติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 อีกทั้งหากการส่งออกทั้งปีติดลบ และเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/58 ยังไม่ฟื้น ก็อาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ไม่สามารถเติบโตได้ถึง 3.8% ตามที่ธปท.คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดี ในปลายเดือนมิ.ย.58 ธปท.จะมีการประเมินตัวเลข GDP ในปีนี้ใหม่อีกครั้ง แต่เชื่อว่าอย่างไรก็ตาม GDP ของไทยในปีนี้จะเติบโตได้อย่างน้อย 2.5%

อนึ่ง ในปี 56 มูลค่าการส่งออกของไทยติดลบ 0.32% และในปี 57 ติดลบ 0.41%

ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย คือ การลงทุนและการเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ซึ่งปีนี้ประเมินว่าการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวได้ 8% ซึ่งจะเห็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในปี 2559-2560 ดังนั้นหากรัฐบาลลงทุนได้ตามแผนที่วางไว้จะทำให้เอกชนลงทุนตาม ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่หมดความหวังสามารถจะขยายตัวกลับมาได้

ส่วนความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา พบว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 1% ซึ่งถือว่าไม่ได้แข็งค่ามาก แต่ค่าเงินของประเทศในภูมิภาคต่างอ่อนค่าลง โดยอ่อนค่าลงประมาณ 2-4% เช่น อินโดนีเซียอ่อนค่าลง 4%, มาเลเซีย 3.6% และสิงคโปร์ 2.5% ซึ่งยอมรับว่าผลจากที่เงินบาทแข็งค่ากระทบการส่งออกบ้าง แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลัก

ทั้งนี้ จากการศึกษาของ ธปท.ที่ผ่านมาพบว่า ภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเป็นปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลต่อการส่งออก ขณะที่การแข็งค่าของดัชนีค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับภูมิภาคและสกุลเงินหลักมีอิทธิพลต่อการส่งออกไทยบ้าง แต่ไม่มากเท่าปัจจัยด้านเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า

สำหรับการส่งออกไทยในระยะหลังที่ฟื้นตัวช้า มาจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ยังฟื้นตัวอย่างเปราะบางทั้งเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยุโรป ญี่ปุ่น และจีนที่ยังอยู่ในช่วงปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งนอกจากส่งผลต่อการส่งออกไทยไปยังตลาดดังกล่าวโดยตรงแล้ว ยังส่งผลทางอ้อมผ่านการส่งออกไปยังอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของไทยตามรายได้จากการส่งออกไปตลาดหลักลดลง นอกจากนี้ โครงสร้างการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้การส่งออกไทยได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าน้อยลงกว่าในอดีต

นอกจากนี้ ภาคการส่งออกของไทยยังมีปัญหาในเชิงโครงสร้างซึ่งเป็นปัจจัยภายใน ทำให้แนวโน้มการส่งออกของไทยในระยะหลังขยายตัวต่ำกว่าเพื่อนบ้าน และบั่นทอนความสามารถการแข่งขันของไทยให้ลดลง เนื่องจากข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขาดการลงทุนเป็นเวลานาน ทำให้ไทยไม่สามารถผลิตสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาด อีกทั้งการส่งออกไปตลาดยุโรปยังได้รับผลกระทบจากการตัดสิทธิ GDP ในทุกสินค้าตั้งแต่ต้นปี 2558 จึงทำให้ไทยเสียเปรียบประเทศคู่แข่งในภูมิภาคที่ยังได้รับสิทธิพิเศษดังกล่าวอยู่

นายดอน เปิดเผยด้วยว่า ยอดคงค้างหนี้ภาคครัวเรือน ณ สิ้นไตรมาส 4/57 ขยายตัวร้อยละ 6.5% โดยเป็นการขยายตัวที่ชะลอลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 56 เป็นต้นมา จากการที่ครัวเรือนระมัดระวังการใช้จ่าย ประกอบกับสถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคครัวเรือน อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของหนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับที่สูงกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือนต่อ GDP ณ สิ้นไตรมาส 4/57 เพิ่มขึ้นจาก 84.7% ณ สิ้นไตรมาส 3/57 มาอยู่ที่ 85.9%

"สัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือนต่อ GDP จะยังคงเพิ่มขึ้น แต่การขยายตัวของหนี้ภาคครัวเรือนมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ความเสี่ยงจากการเร่งก่อหนี้ใหม่ลดลง นอกจากนี้ ผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็งเพียงพอ และมีการกันสำรองเพื่อรองรับหนี้เสียไว้แล้ว"นายดอน กล่าว

ด้านรายได้ของครัวเรือนโดยรวมยังทรงตัว การจ้างงานโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มครัวเรือนเกษตรกรรมที่มีความเปราะบางด้านรายได้จากปัญหาราคาพืชผลที่อยู่ในระดับต่ำ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ