ออมสิน ออกแพ็คเกจสินเชื่อใหม่ 4 ประเภท วงเงิน 3.5 หมื่นลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 20, 2015 10:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ในโอกาสที่รัฐบาลได้บริหารประเทศมาเป็นระยะเวลา 6 เดือน ธนาคารออมสินจึงได้ร่วมดำเนินการตามโครงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ผ่าน "โครงการธนาคารประชาชน" ที่ธนาคารออมสิน ได้เปิดให้บริการมาเกือบ 14 ปี โดยได้กำหนดสินเชื่อ 4 ประเภทใหม่ วงเงินสินเชื่อรวม 35,000 ล้านบาท ประกอบด้วย สินเชื่อประชาชนสุขใจ, สินเชื่อออมสุขใจ, สินเชื่อรายได้ประจำสุขใจ และ สินเชื่อคืนความสุข ซึ่งเปิดให้บริการแล้วตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ดังนี้

1. สินเชื่อประชาชนสุขใจ เป็นสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย ค้าขาย-บริการ หาบเร่แผงลอย หรือผู้ที่ยังไม่ได้ประกอบอาชีพใดๆ แต่มีความตั้งใจจะประกอบอาชีพอิสระรายย่อย โดยธนาคารฯ สนับสนุนเงินทุน/ทุนหมุนเวียน เพื่อไม่ให้ผู้กู้ไปใช้หนี้นอกระบบ เพียงมีอายุครบ 20 ปีขึ้นไป และระยะเวลาผ่อนชำระ เมื่อรวมกับอายุผู้กู้ต้องไม่เกิน 65 ปี มีถิ่นที่อยู่แน่นอนติดต่อได้ มีสถานที่ประกอบอาชีพแน่นอน

ธนาคารฯ ให้กู้ตามความจำเป็น ตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 200,000 บาท ชำระเงินกู้ได้ตั้งแต่ 3 ปี (36 งวด) แต่ไม่เกิน 10 ปี (120 งวด) ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นงวดรายเดือน คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือน (Flat Rate) ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกัน แต่ใช้บรรษัทค้ำประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) ค้ำประกัน และไม่เสียค่าธรรมเนียมค้ำประกันเงินกู้ตลอดอายุสัญญา มีเป้าหมายวงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท

2. สินเชื่อออมสุขใจ เป็นสินเชื่อสำหรับลูกค้าที่ไม่มีรายได้ประจำ และสร้างวินัยการออมอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบ ต้องการประกอบอาชีพอิสระรายย่อย เพียงมีอายุครบ 20 ปีขึ้นไป และระยะเวลาผ่อนชำระเมื่อรวมกับอายุผู้กู้ต้องไม่เกิน 65 ปี มีถิ่นที่อยู่แน่นอนติดต่อได้ มีสถานที่ประกอบอาชีพแน่นอน มีการออมเงินอย่างสม่ำเสมอ

ธนาคารฯ ให้กู้ไม่เกิน 5 เท่าของเงินออม ณ วันที่ยื่นกู้ ทั้งนี้หากฝากเป็นรายวันเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือนและไม่น้อยกว่า 90 วัน วงเงินกู้สูงสุด 50,000 บาท ฝากเป็นรายสัปดาห์ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือนและไม่น้อยกว่า 24 สัปดาห์ วงเงินกู้สูงสุด 100,000 บาท หรือถ้าฝากเป็นรายเดือนเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 เดือน อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง วงเงินกู้สูงสุด 200,000 บาท ระยะเวลาชำระเงินกู้ไม่เกิน 8 ปี (96 งวด) ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นงวดรายเดือน คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือน ใช้บัญชีเงินฝากเผื่อเรียกที่เดินบัญชีไว้เป็นหลักประกันเงินกู้ ธนาคารฯ มีเป้าหมายวงเงินสินเชื่อนี้ 10,000 ล้านบาท

3. สินเชื่อรายได้ประจำสุขใจ เป็นสินเชื่อสำหรับพนักงาน/ลูกจ้างโรงงาน บริษัทเอกชน พนักงาน/ลูกจ้างหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจที่มีรายได้น้อย ต้องการทำอาชีพเสริมในช่วงวันหยุด หรือเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นในการดำรงชีพ หรือชำระหนี้สินอื่นๆ โดยผู้กู้ต้องมีอายุครบ 20 ปีขึ้นไป และระยะเวลาผ่อนชำระเมื่อรวมกับอายุผู้กู้ต้องไม่เกิน 65 ปี มีถิ่นที่อยู่แน่นอนติดต่อได้ เปิดบัญชีเงินฝากเผื่อเรียก ณ สาขาที่ยื่นกู้

โดยธนาคารฯ ให้กู้ตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 200,000 บาท ระยะเวลากการชำระเงินไม่เกิน 8 ปี (96 งวด) ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นงวดรายเดือน คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.75 ต่อเดือน ไม่ต้องใช้หลักประกันเงินกู้ (Clean Loan) โดยหน่วยงานของผู้กู้จะต้องหักเงินนำส่งเงินงวดให้ธนาคารออมสิน ทั้งนี้ ธนาคารฯ มีเป้าหมายวงเงินสินเชื่อนี้ 10,000 ล้านบาท

4. สินเชื่อคืนความสุข เป็นสินเชื่อสำหรับลูกค้าเดิมที่มีการใช้สินเชื่อประเภทใดประเภทหนึ่งของธนาคารออมสิน เพียงมีประวัติการชำระเงินดีไม่น้อยกว่า 12 เดือนติดต่อกัน และไม่เคยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อนำไปใช้ในยามฉุกเฉินหรือบรรเทาความเดือดร้อนในการดำรงชีพ

ธนาคารฯ ให้กู้ตามความจำเป็นสูงสุดไม่เกินร้อยละ 20 ของวงเงินกู้เดิม แต่ไม่เกิน 40,000 บาท ระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ไม่เกิน 5 ปี (60 งวด) ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นงวดรายเดือน คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.75 ต่อเดือน ไม่ต้องใช้หลักประกันเงินกู้ (Clean Loan) ธนาคารฯ มีเป้าหมายวงเงินสินเชื่อนี้ 10,000 ล้านบาท

"ธนาคารออมสินยังคงมุ่งมั่นต่อบทบาทการเป็นสถาบันเพื่อการออม ควบคู่กับการเป็นแหล่งทุนสำหรับประชาชนรายย่อยระดับฐานราก ซึ่งหากประชาชนหรือลูกค้ากลุ่มนี้มีความแข็งแกร่งในการดำรงชีพแล้ว จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศด้วย ธนาคารออมสินมุ่งหวังให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าสู่ระบบโครงสร้างทางการเงินที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกระดับ และส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย ได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพอย่างยุติธรรม ประการสำคัญที่สุดสำหรับประชาชนรายย่อยที่เป็นฐานราก คือการช่วยให้หลุดพ้นจากวงจรหนี้นอกระบบ เพื่อนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตให้กินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืน ซึ่งบุคคลเหล่านี้ถือเป็นฐานรากสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นฐานของประเทศ" นายชาติชาย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ