สศช.เผยศก.ไทยมีสัญญาณฟื้น หลัง 4 เครื่องยนต์เริ่มทำงาน คาดทั้งปีโต 3.5-4.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 21, 2015 12:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) แถลงผลงานรอบ 6 เดือน (12 ก.ย.57-12 มี.ค.58) ภายใต้การบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีว่า เห็นภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจาก GDP ที่ติดลบร้อยละ 0.5 ในไตรมาสแรกปี 57 ซึ่งภายหลังจากการวางนโยบายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งฟื้นฟูความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือน เช่น เร่งรัดเบิกจ่ายเงินที่ค้างจากโครงการรับจำนำข้าว การกระตุ้นความเชื่อมั่นภาคเอกชนและนักท่องเที่ยว ความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยว และความเชื่อมั่นการลงทุนภาครัฐ ส่งผลให้เศรษฐกิจปรับดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2557 ต่อเนื่องจนถึงไตรมาสแรกปี 2558 โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 3 เนื่องจากการฟื้นตัวของเครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยทั้ง 4 เครื่องยนต์ปรับดีขึ้น

ส่วนสถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุดนั้น เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจช่วง 2 เดือนแรกปี 2558 แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า และขยายตัวเร่งขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว การผลิตภาคอุตสาหกรรม การลงทุนภาครัฐซึ่งคาดว่าจะเริ่มกลับมาขยายครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส ขณะที่การใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวต่อเนื่อง ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวช้าลดลง และกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 23 เดือน ในอัตราร้อยละ 3.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ เป็นผลจากโครงการรถคันแรกเริ่มลง ทำให้เห็นความต้องการซื้อจริงในอุตสาหกรรมรถยนต์ถือว่ากำลังเข้าสู่ภาวะปกติ

ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวสูงและเร่งขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ส่งผลให้ยอดนักท่องเที่ยว 2 เดือนแรก ขยายตัวร้อยละ 22.5 มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 71.9 สูงที่สุดในรอบ 23 เดือน

ขณะที่สถานการณ์ด้านราคาสินค้าในด้านการใช้จ่าย ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 20 เดือน การลงทุนภาครัฐปรับตัวดีขึ้นตามความคืบหน้าการเร่งรัดเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 123.2 และ 104.8 ตามลำดับ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 แต่ยอมรับว่า ราคาพืชผลการเกษตรที่ตกต่ำเป็นอุปสรรคต่อการบริโภคในประเทศและภาคการส่งออกที่ซบเซา ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ดังนั้น สศช.จะติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด พร้อมมองว่าสินค้าไทยจำเป็นต้องกลับมาปรับปรุงโครงสร้างสินค้าอุตสาหกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มการส่งออก และในระยะยาวจำเป็นต้องพัฒนาบุคคลากรและการศึกษาให้ดีขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ

ส่วนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง โดย 2 เดือนแรกของปี 2558 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -0.5 และเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.6 การว่างงานอยู่ในระดับต่ำเฉลี่ย 2 เดือนแรกของไตรมาสแรก อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ดุลบัญชีเดินสะพักเกินดุล 6,015 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นผลจากดุลการค้าและดุลบริการที่เกินดุล ตามรายรับจากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนก.พ.58 อยู่ที่ 5.72 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 46.83 ต่อ GDP

สศช. ประเมินว่าปัจจัยที่ส่งผลทำให้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นนั้น การเมืองจะต้องมีเสถียรภาพ และหากการส่งออกกลับมาดีขึ้นได้ เชื่อว่า GDP ปี 2558 จะเป็นไปตามเป้าที่ร้อยละ 3.5-4.5 อย่างไรก็ดี ต้องรอการแถลงประมาณการณ์เศรษฐกิจอีกครั้งในวันที่ 18 พฤษภาคม 2558 นี้

นายอาคม ยังกล่าวถึงการขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายว่า โครงการทวายจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยโดยเป็นประตูการค้าฝั่งตะวันตกของภูมิภาค สร้างทางลัดโลจิสติกส์เชื่อมโยงไทยกับโลกตะวันตก ลดระยะเวลาและประหยัดต้นทุนการขนส่งสินค้า เป็นโอกาสในการขยายฐานการผลิตอุตสาหกรรมเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานกับพื้นที่อุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลตะวันออก

โดยโครงการทวายการดำเนินงานโครงการทวาย แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ 1.การพัฒนาโครงการทวายระยะแรก (Initial Phase Development) และ 2.การพัฒนาโครงการทวายระยะสมบูรณ์ (Full Phase Development) ระยะแรก คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในปี 2558 เป็นก้าวสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นานาประเทศ สร้างภาพลักษณ์โครงการที่เป็นสากล และวางรากฐานสู่การพัฒนาโครงการระยะสมบูรณ์ที่มีความยั่งยืน โดยโครงการระยะแรกจะเป็นการพัฒนาพื้นที่ขนาดเล็ก ได้แก่ พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมระยะแรก 27 ตารางกิโลเมตร จากพื้นที่โครงการทั้งหมด 196 ตารางกิโลเมตร และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาโครงการทวายและเกิดการจ้างงานประชาชนในท้องถิ่นโดยเร็ว

ทั้งนี้ สศช.ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการร่วมระดับสูงระหว่างไทย-เมียนมา (Joint - High level Committee: JHC) และคณะกรรมการประสานงานร่วมระหว่างไทย - เมียนมา (Joint Coordinating Committee: JCC) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม ฯลฯ ได้ทำงานร่วมกับฝ่ายเมียนมาเพื่อขับเคลื่อนโครงการทวายให้บังเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าเอกชนไทยและภาครัฐเมียนมาจะลงนามในสัญญาสัมปทานโครงการทวายระยะแรกในเดือนพ.ค.58 หลังจากผ่านการพิจารณาของ ครม.เมียนมา

โดยโครงการระยะแรก ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมระยะแรก ซึ่งเน้นอุตสาหกรรมแรงงานเข้มข้น เนื้อที่ 27 ตารางกิโลเมตร ภายใต้กรอบระยะเวลา 8 ปี, ถนนสองช่องทางจากเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายถึงชายแดนไทย ที่บ้านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี ความยาว 138 กิโลเมตร (สัมปทานเฉพาะในส่วนการดำเนินงานและการบำรุงรักษาถนน), ท่าเรือเล็กขนาด 2 ท่า รองรับเรือบรรทุกสินค้าอเนกประสงค์ความจุ 400 TEU และเรือ Feeder Vessel ความจุ 1,600 TEU, โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (ได้แก่ โรงไฟฟ้าชั่วคราวขนาด 15 MW ใช้ระหว่างการก่อสร้าง/โรงไฟฟ้าแบบ Boil-off Gas/และโรงไฟฟ้าแบบ Combined Cycle Gas Turbine ขนาด 450 MW), อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก, ระบบโทรคมนาคมแบบ Landline สำหรับอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์, ที่อยู่อาศัยสำหรับแรงงานในพื้นที่ รองรับประชากรประมาณ 126,000 คน, คลังเชื้อเพลิง LNG สำหรับใช้ในโรงไฟฟ้าและนิคมอุตสาหกรรม

ส่วนการพัฒนาโครงการทวายระยะสมบูรณ์ ประกอบด้วย 1.นิคมอุตสาหกรรมสำหรับอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมขนาดกลาง ขนาดเบา รวมทั้งอุตสาหกรรมบริการ รวมพื้นที่ขายทั้งหมดประมาณ 132 ตารางกิโลเมตร 2.ท่าเรือน้ำลึก สามารถรับเรือบรรทุกขนาดใหญ่และรองรับปริมาณสินค้ากว่า 170 ล้านตัน และ 5 ล้าน TEU ต่อปี 3.ถนนสี่ช่องทางจากเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายถึงชายแดนไทยที่บ้านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี ความยาว 132 กิโลเมตร 4.ระบบน้ำเพื่ออุตสาหกรรมและครัวเรือน ขนาด 900,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน รวมทั้งระบบบำบัดน้ำเสีย และ 5.ระบบไฟฟ้าและการพัฒนาเมือง ที่พักอาศัย ศูนย์ราชการ สำนักงานที่พักผ่อนหย่อนใจ โรงแรม และศูนย์การค้า

ปัจจุบัน สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน(องค์การมหาชน) ร่วมกับ สศช.อยู่ระหว่างการศึกษาจัดทำแผนแม่บทโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิ.ย.58 โดยประสานข้อมูลผลการศึกษาและความเห็นจากประเทศญี่ปุ่นทั้งในด้านการวางแผนแม่บทโครงการ และการศึกษาความเป็นไปได้เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ