คมนาคมเตรียมเสนอ ครม.อนุมัติรถไฟฟ้า 5 สาย ครอบคลุมเส้นทางกทม.-ปริมณฑล

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 22, 2015 17:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยในการแถลงผลงาน 6 เดือนของกระทรวงคมนาคม ถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลว่า กระทรวงคมนาคมจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการ 5 เส้นทาง ได้แก่ 1) โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะยทาง 34.5 กม. วงเงิน 56,725 ล้านบาท โดยเตรียมนำเสนอภายในเดือน พ.ค.58 โดยกำหนดแล้วเสร็จในเดือน พ.ย.63

2) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. วงเงิน 54,768.45 ล้านบาท เตรียมนำเสนอครม.ภายในเดือน พ.ค.58 กำหนดแล้วเสร็จในเดือน พ.ย.63

3) Airport Rail Link ส่วนต่อขยาย ช่วงพญาไท-ดอนเมือง ระยะทาง 21.8 กม. วงเงิน 31,139 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 48 เดือน

4) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี หรือพระราม 9-มีนบุรี เตรียมนำเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ในเดือนพ.ค.58 ระยะทาง 21 กม.(ใต้ดิน 12 กม. ทางยกระดับ 9 กม.) วงเงิน 110,325.76 ล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จในเดือน ส.ค.63

5) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-วังบูรพา ขณะนี้ศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียด และเตรียมเสนอครม.ภายในเดือน มิ.ย.58 พร้อมประกวดราคาประมาณกลางปี 58

ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค-พุทธมณฑล คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จเดือน ส.ค.58 เริ่มก่อสร้างปลายปี 59 และกำหนดเปิดให้บริการเดือน เม.ย.62

ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ ครม.ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 44,157.76 ล้านบาท อยู่ระหว่างคณะกรรมการ สศช. และ คนร.พิจารณาเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของครม. โดยกำหนดแล้วเสร็จในปี 61

นอกจากนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง ที่อยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีภายในพ.ค.58 ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูง สายกทม.-หัวหิน ระยะทาง 211 กม. วงเงิน 81,136.20 ล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณา EIA และโครงการรถไฟความเร็วสูง สายกทม.- พัทยา ระยะทาง 129.1 กม. โดยเส้นทางนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูง สายกทม.-ระยอง ซึ่งได้ดำเนินการออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ โดยอยู่ระหว่างการพิจารณา EIA

ส่วนการพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ ขนาดราง 1 เมตร

1) เส้นทางช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย อยู่ระหว่างการประกวดราคา โดยดำเนินการตามมาตรการความโปร่งใส โดยยกเลิกการประกวดราคาตามข้อท้วงติงของสตง. คาดประกวดราคาใหม่ให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.58 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 61

2) เส้นทางช่วงจิระ-ขอนแก่น จะเสนอครม.พิจารณาอนุมัติโครงการภายในเม.ย.58 ประกวดราคาได้ภายในเดือน ก.ค.58 คาดว่าจะก่อสร้างได้ในเดือน พ.ย.58 และกำหนดเปิดให้บริการภายในปี 61

3) เส้นทางช่วงประจวบคีรีขันธ์ - ชุมพร โดนผ่าน EIA แล้วเมื่อ 7 ต.ค.57 เตรียมเสนอ ครม.ภายในเดือน มิ.ย.58 เริ่มก่อสร้างในเดือน มี.ค.59 กำหนดแล้วเสร็จปี 62

ส่วนอีก 3 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ, ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ และช่วงนครปฐม-หัวหิน อยู่ระหว่างกระทรวงคมนาคมประสานติดตามผลการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ

พล.อ.อ.ประจิน ยอมรับว่า การดำเนินโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 ล่าช้ากว่าแผน เนื่องจากงานมีความซับซ้อนและต้องมีการปรับแผนงาน ซึ่งกระทรวงจะจัดเจ้าหน้าที่จากกระทรวงเข้าไปช่วยเหลือ รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่หลักแล้วแหล่งทุนจะมาจากเงินกู้ในประเทศ

ทั้งนี้ กระทรวงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย ระยะยาว พ.ศ.2558-2565 เพื่อเสริมสร้างรากฐานความมั่นคงทางสังคม เศรษฐกิจ ความปลอดภัย และสร้างโอกาสสำหรับการแข่งขันและให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุดจากการเป็นประชาคมอาเซียน

ยุทธศาตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยดังกล่าว ประกอบด้วย 5 แผนงานได้แก่ 1)การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง 2)การพัฒนาโครงข่ายขนส่งสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพและปริมณฑล 3)การเพิ่มขีดความสามารถทางหลวงเพื่อเชื่อมโยงฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน 4)การพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำ และ 5)การเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการขนส่งทางอากาศ รวมวงเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,912,681 ล้านบาท โดยในปี 58 จะมีการลงทุนรวมประมาณ 55,987 ล้านบาท

โดยกระทรวงเร่งดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2558 โดยในไตรมาส 2 มีการเบิกจ่ายงบประมาณ จำนวน 58,308.44 ล้านบาทคิดเป็น 40.32% สูงกว่าแผนวางไว้ 45,225.54 ล้านบาท คิดเป็น 31.28%

เมื่อดำเนินการตามแผนฯแล้วเสร็จ จะส่งผลให้ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP ลดลงไม่น้อยกว่า 2% จากเดิมอยู่ที่ 14.4% สัดส่วนผู้เดินทางระหว่างจังหวัดโดยรถยนต์ส่วนบุคคลลดลง 40% ความเร็วเฉลี่ยของรถไฟขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น 60% ความเร็วเฉลี่ยของขบวนรถโดยสารเพิ่มขึ้น 100% สัดส่วนการขนส่งสินค้าทางน้ำเพิ่มขึ้น 19% ลดความสูญเสียน้ำมันเชื้อเพลิงได้ไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาท/ปี และขีดความสามารถในการบริหารจัดการจราจรทางอากาศเพิ่มขึ้นเป็น 1.40 ล้านเที่ยว/ปี(ปี 2567)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ