(เพิ่มเติม) "ประวิตร"เผยยังไม่ใช้ม.44 แก้ใบเหลือง EU สั่งทำแผนให้ ครม.ใน 2 สัปดาห์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 23, 2015 17:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เปิดเผยภายหลังเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย(IUU FISHING)ว่า ยังไม่มีความจำเป็นที่จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 มาแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจากมองว่ากฎหมายอื่นครอบคลุมการดำเนินงานแล้ว ซึ่งภายใน 1 เดือนจะต้องมีความชัดเจนในการแก้ไขปัญหา, การชี้แจงกับต่างประเทศ รวมทั้งการแก้ไขกฎหมาย, กฎหมายลูก และพ.ร.ก.ที่เกี่ยวข้องให้เสร็จสิ้นภายใน 3 เดือน

พล.อ.ประวิตร ไม่คิดว่าไทยจะได้ใบเหลืองจากอียู เพราะไทยได้ดำเนินการมาโดยตลอด แต่ยังไม่เป็นไปตามหลักสากล จึงได้ทำความเข้าใจกับหน่วยงานทั้งหมดและตกลงกันว่าจะดำเนินการในด้านของกฎหมาย การติดตั้ง GPS เพื่อติดตามเรือ และจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อชี้แจงให้สหภาพยุโรป(อียู) เข้าใจการดำเนินการของไทย พร้อมจัดตั้งชุดเฉพาะกิจใน 22 จังหวัดเพื่อตรวจสอบเรือที่จะออกจากท่า และจะเรียกประชุมคณะกรรมการเพื่อติดตามความคืบหน้าในแต่ละสัปดาห์ โดยมั่นใจว่าไทยจะต้องได้ใบเขียวจาก EU ก่อนกำหนดใน 6 เดือนอย่างแน่นอน

ส่วนการจัดอันดับการค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกาที่ไทยอยู่ในอันดับเทียร์ 3 นั้น อาจมีปัญหาในเรื่องของการจับกุมและดำเนินคดี ซึ่งจะต้องเรียกประชุมอีกครั้ง แต่ในขณะนี้มีความพยายามในการแก้ไขเพื่อให้ปรับลดอันดับลง

ด้านพล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ที่ประชุมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำแผนปฎิบัติงาน(Action Plan) เสนอมายังที่ประชุม ครม.ใน 2 สัปดาห์นี้ เพื่อเป็นแผนดำเนินการแก้ปัญหาต่างๆ ควบคู่ไปกับการออกกฎหมาย ขณะเดียวกันเรือประมงตั้งแต่ 60 ตันกลอสขึ้นไป จะต้องมีการติดตั้ง ระบบติดตามเรือให้ครบทุกลำ โดยให้กองทัพเรือและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน ขณะที่เรือตั้งแต่ 30-60 ตันกลอส ก็ให้มีการติดตั้งระบบติดตาม VMS ได้ทันที พร้อมกับมอบหมายให้กรมเจ้าท่าเป็นเจ้าภาพจัดชุดเฉพะกิจ ตรวจสอบ ติดตามเรือ ดูใบอนุญาติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ขณะที่การชี้แจงทำความเข้าใจกับอียูนั้น ที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศไปดำเนินการ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ ต้องไปทำความเข้าใจกับภาคเอกชนที่นำเข้าสินค้าประมงไทย ส่วนเรื่องคดีความต่างๆ สั่งการให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ รายงานความคืบหน้าคดีความต้องมีความชัดเจน

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังจัดตั้งศูนย์บริการข้อมูลเพื่อแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย เพื่อรวบรวมข้อมูล ดำเนินการชี้แจงและแก้ปัญหาอย่างครบถ้วนขึ้นด้วย

ทั้งนี้ พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า กฎระเบียบของการทำประมงที่สหภาพยุโรปเรียกร้องให้ประเทศไทยดำเนินการปรับปรุงแก้ไข มี 4 ประการได้แก่ 1. พัฒนากฎหมายการทำประมงให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันการประมงผิดกฏหมายและบทลงโทษ 2. การมี National Plan of Actions หรือแผนปฏิบัติการระดับชาติที่ให้น้ำหนักกับป้องกันการทำประมงที่ผิดกฏหมาย 3. จัดระบบเฝ้าติดตามเรือประมงขณะออกจับสัตว์น้ำ ให้มีความชัดเจนทั้งในส่วนการติดตั้งอุปกรณ์ประจำเรือ VMS GPS และการมีศูนย์ที่จะติดตามตรวจสอบเรือประมงเหล่านั้น 4. การมีระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมงตั้งแต่ผู้บริโภคปลายทางจนถึงต้นทางของการจับสัตว์น้ำ

“ท่านรองนายกฯ สั่งการให้ตั้ง core team เพื่อกำกับการทำงานของทุกหน่วย โดยจะประชุมติดตามงานทุก 2 สัปดาห์ โดยกำหนดให้ทุกอย่างต้องแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน และในขณะที่รอการประกาศใช้กฎหมายอย่างเป็นทางการ เพื่อมิให้เกิดช่องว่างของการทำงาน จะมีการจัดตั้งคณะทำงานชุดเฉพาะกิจ โดยมีกรมเจ้าท่าเป็นหน่วยหลักและให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมประมง กระทรวงแรงงาน ร่วมกันจัดชุดลงตรวจสอบเรือประมงทั้งหมดให้ปฏิบัติตามกฏหมายของทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง โดยคณะทำงานชุดเฉพาะกิจนั้นจะประจำทุกท่า เพื่อให้เรือทุกลำได้รับการตรวจสอบ"พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

พล.ต.สรรเสริญ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า รองนายกรัฐมนตรียังได้สั่งการจัดตั้งให้กระทรวงการต่างประเทศออกเอกสารและเดินสายชี้แจงสหภาพยุโรปถึงรูปธรรมการแก้ไขปัญหาของประเทศไทย ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ชี้แจงประเทศคู่ค้าและบริษัทที่สั่งซื้อสินค้าประมงของไทยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยได้ดำเนินการทุกอย่างเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบการทำประมงของสหภาพยุโรป เนื่องจากการสั่งซื้อสินค้าประมงโดยปกติจะเป็นการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ดังนั้นการสร้างความมั่นใจให้กับคู่ค้าดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยยังคงรักษาตลาดและยอดการจำหน่ายอย่างต่อเนื่องต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ