(เพิ่มเติม) ธปท.แจงรับมอบบทบาทกำกับดูแบงก์รัฐ ยันยังไม่ใช้เกณฑ์บาเซิล 3

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 24, 2015 15:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงการหารือร่วมกันระหว่าง ธปท. กับประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ(SFIs) 8 สถาบัน โดย ธปท.ได้แจ้งเรื่องการรับโอนบทบาทการกำกับดูแล SFIs จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และทำความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลของ ธปท.ในระยะต่อไป รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากผู้บริหารของ SFIs ซึ่งในภาพรวมมีความเห็นร่วมกันว่าเป็นกระบวนการที่เป็นประโยชน์และสนับสนุนการปฏิรูปในครั้งนี้

สำหรับแนวทางการกำกับดูแล SFIs ของ ธปท.มีเป้าประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมความมั่นคงและดูแลให้ SFIs มีเสถียรภาพในระยะยาว โดยคำนึงถึงพันธกิจของ SFIs แต่ละสถาบันที่มีความแตกต่างกัน รวมทั้งการดำเนินการที่มีความแตกต่างกับธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้ SFIs ทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการดำเนินนโยบายของภาครัฐได้อย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพในการพิจารณาออกเกณฑ์กำกับดูแล

ในช่วงต้นยังคงให้ SFIs ถือปฏิบัติตามแนวทางที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่สำหรับในระยะต่อไปจึงจะได้มีการทยอยออกหลักเกณฑ์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแนวทางที่ ธปท.ใช้ในการตรวจสอบมาก่อนหน้านี้ สำหรับการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่อาจจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมก็จะมีการทยอยการบังคับใช้เกณฑ์เพื่อให้ SFIs มีเวลาปรับตัว

ทั้งนี้ การรับมอบบทบาทการกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2557 โดยให้ธปท.มีหน้าที่ครอบคลุมการออกเกณฑ์กำกับดูแลตรวจสอบความเหมาะสมของผู้บริหารติดตามและตรวจสอบ รวมถึงการสั่งการให้มีการแก้ไขปัญหา ส่วนงานด้านการกำกับนโยบายและกำกับในฐานะผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของกิจการยังคงเป็นของกระทรวงการคลังเพื่อให้มีการแบ่งแยกหน้าที่ชัดเจนระหว่างผู้กำกับดูแล ผู้เป็นเจ้าของ และผู้กำกับนโยบาย

นางทองอุไร กล่าวว่า วันนี้ผู้บริหารธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ 8 แห่ง ได้เข้าหารือกับนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ (ธปท.) ซึ่งเป็นการหารือกันครั้งแรก หลังคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ ธปท.กำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ โดยเบื้องต้นได้รับฟังความคิดเห็นก่อนกำหนดหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแล เนื่องจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐมีความแตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะต้องมีหลักเกณฑ์การตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ความเพียงพอของเงินกองทุน, กระบวนการปล่อยสินเชื่อ, การบริหารงานที่เหมาะสม, การตรวจสอบข้อมูลที่โปร่งใส, การแยกบัญชีระหว่างโครงการภาครัฐและพันธกิจของธนาคาร เพื่อส่งเสริมความมั่นคงให้มีเสถียรภาพระยะยาว

ทั้งนี้ หาก ธปท.ยกร่างการกำกับดูแลแล้วเสร็จ จะมีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) เป็นผู้ประสานงานกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐแต่ละแห่งเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการดำเนินการตามร่างดังกล่าวก่อนเสนอให้กระทรวงการคลัง เพื่อประกาศหลักเกณฑ์การดำเนินงานแบบใหม่ได้ ซึ่งคาดว่าจะประกาศได้ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าต้องมีการแก้มาตรา 120 พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน เพื่อให้ธปท.สามารถสั่งการให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเพิ่มทุน-ลดทุน และกำหนดบทลงโทษผู้บริหารที่กระทำความผิดได้เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจะมีเวลา 1-2 เดือนในการแสดงความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมของแต่ละสถาบันการเงิน โดยเชื่อว่าสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจะปรับตัวได้และพร้อมให้ความร่วมมือ ขณะที่การกำกับดูแลจะยังไม่มีการใช้เกณฑ์บาเซิล 3 กับแบงก์รัฐ

ด้านนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธปท.ได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางที่ธปท.จะกำกับดูแลธนาคารเฉพาะกิจของรัฐตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ธปท.จะเข้ามาดูแลเพราะเป็นหน่วยงานที่มีประสบการณ์ มีความเข้มแข็งในการดูแลธนาคารพาณิชย์มาแล้ว จึงเชื่ออว่าการกกำกับดูแลจะมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เกณฑ์การกำกับดูแลธนาคารเฉพาะกิจของรัฐก็จะมีความแตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งแตกต่างกัน มีพันธกิจไม่เหมือนกัน ดังนั้นกฎเกณฑ์ต่างๆ จึงจะต้องเหมาะสมกับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐในแต่ละแห่ง ซึ่งธปท.จะต้องรับฟังข้อคิดเห็นจากธนาคารแต่ละแห่งก่อนที่จะออกแนวทางการกำกับที่เหมาะสมได้

นายชาติชาย กล่าวถึงการปล่อยสินเชื่อช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ว่า อยู่ที่ 1.77 ล้านล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงปลายปีก่อน ขณะที่ภาพรวมเงินฝากอยู่ที่ 1.9 ล้านล้านบาท อยู่ในระดับทรงตัว เนื่องจากธนาคารยังไม่มีการออกผลิตภัณฑ์มากระตุ้นการออม ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) อยู่ที่ 1.7 -1.8% และทั้งปีตั้งเป้าจะบริหารให้ไม่เกิน 1.7% โดยในขณะนี้ได้มีการมอบนโยบายไปยังสาขาและเขตให้ติดตามดูแลลูกหนี้อย่างใกล้ชิด และหลังจากนี้จะมีการหารือกับ สคร.ว่าจะต้องปรับเป้าหมายการเติบโตของธนาคารในปีนี้หรือไม่ จากเดิมตั้งเป้าโต 6% ภายใต้จีดีพีขยายตัว 4% แต่ขณะนี้คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ 2.8-3% เท่านั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ