(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผยมี.ค.ส่งออกหด 4.45% นำเข้าวูบ 5.89% เกินดุลฯ1,495 ล้านดอลล์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 28, 2015 11:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าภาวะการส่งออกในเดือน มี.ค.58 หดตัว 4.45% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่า 18,886 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การนำเข้าหดตัว 5.89% มีมูลค่า 17,391 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้เกินดุลการค้า 1,495 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่การส่งออกในช่วงไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.58) มูลค่า 53,365 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 4.69% นำเข้าไตรมาสแรก 51,936 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 6.43% ดุลการค้าไตรมาสแรก เกินดุล 1,429 ล้านเหรียญสหรัฐ

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ภาพรวมการส่งออกเดือน มี.ค.ดีขึ้น โดยเป็นการหดตัวในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อน และยังสามารถรักษาส่วนแบ่งการตลาดที่สำคัญไว่ได้ ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตร/สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรในกลุ่มที่มีปัญหาพบว่าปริมาณการส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และแม้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมจะยังหดตัวแต่ก็มีอัตราชะลอลง

ปัจจัยที่กระทบต่อการส่งออกของไทยขณะนี้ยังมีทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ โดยปัจจัยภายในประเทศมาจาก 1. การขาดแคลนวัตถุดิบ เช่น สินค้ากุ้ง ที่ประสบปัญหาโรค EMS และปลาที่ประสบปัญหาการทำประมงกับอินโดนีเซีย รวมถึงปัญหา IUU 2. ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน 3. มีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่า และได้สิทธิพิเศษทางภาษี

ขณะที่ผลกระทบจากปัจจัยภายนอก ได้แก่ IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้เหลือโต 3.5% จากเดิม 3.8%, การนำเข้าในภาพรวมของทุกประเทศลดลง, ความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนในประเทศคู่ค้าของไทย, ราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำโดยเฉพาะข้าว ยางพาราและน้ำตาล, ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงจากระดับ 87 ดอลลาณ์/บาร์เรลในเดือนต.ค.57 เหลือ 58 ดอลลาร์ในเดือน ก.พ.58,

มาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี(NTB), ความไม่สงบในตะวันออกกลางและแอฟริกาตอนเหนือ, นโยบายภายในประเทศของประเทศคู่ค้า เช่น จีนและอินโดนีเซียที่หันมาพึ่งพาการผลิต และพึ่งพาอุตสาหกรรมภายในประเทศมากขึ้น ในขณะที่สหรัฐดึงการลงทุนหลายอย่างกลับไปผลิตเองในประเทศ, กรณีที่สหภาพยุโรปตัดสิทธิ GSP ในสินค้าไทยหลายรายการตั้งแต่ 1 ม.ค.58


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ