(เพิ่มเติม) เงินบาทเปิดอ่อนค่า 33.30/32 รับผลธปท.ลดดบ.-ออกมาตรการผ่อนคลายเงินทุนฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 6, 2015 11:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงิน เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อ่อนค่ามากสุดในรอบ 5 ปี โดยอยู่ที่ระดับ 33.30/32 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าลงไปมากเมื่อเทียบกับปิดตลาดเมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ระดับ 32.96/98 บาท/ดอลลาร์

เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อ่อนค่าลงมากจากสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผลของการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 1.50% รวมทั้งผลจากการประกาศมาตรการผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศเพิ่มเติม ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

"บาทวันนี้อ่อนค่าลงไปมากในรอบ 5 ปี จากปัจจัยในประเทศที่สำคัญคือ จากผลของสัปดาห์ที่แล้วที่ กนง.ลดดอกเบี้ย และแบงก์ชาติประกาศมาตรการผ่อนคลายฯ " นักบริหารเงินเงิน ระบุ

โดยคาดว่า วันนี้เงินบาทยังมีโอกาสอ่อนค่าได้ต่อ มองกรอบไว้ที่ 33.25-33.40 บาท/ดอลลาร์

ล่าสุด SPOT อยู่ที่ระดับ 33.2217 บาท/ดอลลาร์ ส่วน THAI BAHT FIX 3M(30 เม.ย.) อยู่ที่ 1.40147% ส่วน THAI BAHT FIX 6M(30 เม.ย.) อยู่ที่ 1.45862%

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เปิดตลาดเช้านี้ เงินเยนอยู่ที่ระดับ 119.90 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเย็นวันพฤหัสที่ระดับ 118.86 เยน/ดอลลาร์
  • ส่วนเงินยูโรเช้านี้อยู่ที่ระดับ 1.1190 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเย็นวันพฤหัสที่ระดับ 1.1210 ดอลลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 32.8720 บาท/ดอลลาร์
  • แบงก์ชาติเผยหนี้เสียในระบบธนาคารพาณิชย์ พบกรุงไทยมียอดคงค้าง เอ็นพีแอลมากสุดในระบบ 6.4 หมื่นล้านบาท และมียอดคงค้างเอ็นพีแอลสุทธิสูงสุดเช่นกัน 3.53 หมื่นล้านบาท ขณะที่แบงก์กสิกรไทยมียอดเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นมากที่สุดในระบบ 3.8 พันล้านบาท ตามมาด้วยเกียรตินาคิน กรุงไทย ไทยพาณิชย์ พบช่วงเศรษฐกิจหด แต่ทำผลงานดียอดเอ็นพีแอลลดลง ได้แก่ ธนชาต ทหารไทย ไอซีบีซี (ไทย)
  • กสอ.เปิดผลสำรวจความคิดเห็น "เอสเอ็มอี" พบผู้ประกอบการห่วงเรื่องความสามารถการแข่งขันเหตุจากต้นทุนสูง เศรษฐกิจชะลอตัวทำยอดขายลดร้องรัฐช่วยพัฒนาสถานประกอบการ ทั้งเทคโนโลยการผลิต พัฒนาสินค้าและบุคลากร พร้อมส่งเสริมช่องทางตลาดใน-นอก
  • นายกฤษฎา จีนะ-วิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยถึงการเดินทางของนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยและผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชีย เพื่อเข้าร่วมการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชีย ครั้งที่ 48 (48th Annual Meeting of the Board of Governors of Asian Development Bank) การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 ครั้งที่ 18 (ASEAN+3 Finance Ministers and Central Bank Governors Meeting: AFMGM+3) และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 1-5 พฤษภาคม 2558 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน
  • ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวลงเมื่อเทียบสกุลเงินหลักอื่นๆเมื่อคืนนี้ (5 พ.ค.) เนื่องจากยอดขาดดุลการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐที่พุ่งขึ้นในเดือนมี.ค.บ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ยังคงอ่อนแอ
  • ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่ปรับตัวย่ำแย่ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานเมื่อคืนนี้ว่า ยอดขาดดุลการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐในเดือนมี.ค.พุ่งขึ้นแตะ 5.14 หมื่นล้านดอลลาร์ เทียบกับ 3.59 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนก.พ. โดยตัวเลขขาดดุลการค้าในเดือนมี.ค.นับว่ามากที่สุดสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.51

ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศล่าสุดแสดงให้เห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่มีความต่อเนื่อง และทำให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง

  • สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (5 พ.ค.) หลังจากมีรายงานว่า ลิเบียประกาศปิดท่าเรือขนส่งน้ำมันแห่งหนึ่ง หลังจากกลุ่มผู้ประท้วงได้ก่อเหตุปิดท่อส่งน้ำมัน โดยสัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย.พุ่งขึ้น 1.47 ดอลลาร์ ปิดที่ 60.4 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนมิ.ย.เพิ่มขึ้น 1.07 ดอลลาร์ ปิดที่ 67.52 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • เอชเอสบีซี โฮลดิงส์เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของจีนในเดือนเม.ย.ขยับขึ้นแตะ 52.9 จาก 52.3 ในเดือนมี.ค. ข้อมูล PMI ล่าสุดบ่งชี้ว่า บริษัทในภาคบริการของจีนเริ่มต้นไตรมาส 2 อย่างแข็งแกร่ง โดยกิจกรรมในภาคบริการและคำสั่งซื้อใหม่ต่างปรับตัวขึ้นอย่างมากในเดือนเม.ย.

อย่างไรก็ตาม การปรับตัวช่วงขาลงในภาคการผลิตได้ส่งผลให้กิจกรรมในภาคธุรกิจโดยรวมมีการขยายตัวที่อ่อนแรงลงในเดือนเม.ย.นอกจากนี้ การปรับลดการจ้างงานอย่างต่อเนื่องของบริษัทในภาคการผลิตได้สกัดปัจจัยบวกจากการที่ภาคบริการมีการเพิ่มจำนวนพนักงานขึ้นเล็กน้อย ซึ่งทำให้การจ้างงานโดยรวมปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ