คนร.เห็นชอบจัดทำแผนพัฒนาระบบรัฐวิสาหกิจขึ้นเป็นแผนระดับชาติ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 6, 2015 17:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) วันนี้ได้ให้ความเห็นชอบแนวทางการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ โดยให้มีการจัดทำแผนพัฒนาระบบรัฐวิสาหกิจ (SOEs National Plan) ขึ้นเป็นแผนระดับชาติที่กำหนดเป้าหมายทิศทางการพัฒนารัฐวิสาหกิจอย่างเป็นระบบ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกำหนดยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ

สำหรับการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจที่ประสบปัญหานั้น คนร.ได้เห็นชอบความคืบหน้าและแนวทางการแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจทั้ง 7 แห่ง โดยมีสาระสำคัญดังนี้ 1. การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เห็นชอบให้ดำเนินการดังนี้ 1) มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเร่งการดำเนินการพิจารณา EIA ของโครงการรถไฟรางคู่ให้แล้วเสร็จตามกำหนด 2) เร่งดำเนินการมอบสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินย่านมักกะสันให้กระทรวงการคลัง เพื่อดำเนินการพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ พร้อมทั้งมีพื้นที่เชิงพาณิชย์โดยให้มีสัดส่วนที่เหมาะสม 3) มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาให้ผู้ประกอบการเอกชนเข้าร่วมในการดำเนินโครงการรถไฟฟ้า Airport Rail Link และรายงานผลต่อ คนร. ต่อไป

2. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมสร้างความชัดเจนในการปรับปรุงเส้นทางเดินรถโดยให้ ขสมก.เป็นผู้เดินรถในเส้นทางหลัก และให้กระทรวงคมนาคมกำกับดูแลรถร่วมบริการให้เกิดประโยชน์ และรายงานความคืบหน้าต่อ คนร.ภายใน 60 วัน ทั้งนี้ ปัจจุบัน ขสมก.สามารถดำเนินการจัดซื้อรถโดยสาร NGV จำนวน 489 คัน โดยราคารถโดยสารรวม 1,735 ล้านบาท หรือเฉลี่ยคันละ 3.5 ล้านบาท และขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาค่าซ่อมบำรุง คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2558

3. บมจ.การบินไทย(THAI) สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้เป็นไปตามแผนที่ คนร.ให้ความเห็นชอบไปก่อนหน้านี้ โดยมีแผนงานที่สำคัญเช่น การปรับปรุงเส้นทางบินและฝูงบิน และการปรับปรุงด้าน Operation และลดต้นทุน

4. บมจ.ทีโอที และ 5. บมจ. กสท โทรคมนาคม ซึ่ง คนร.กำชับให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่งเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทกับภาคเอกชนโดยเฉพาะเรื่องเสาโทรคมนาคมให้สอดคล้องกับแผนการประมูลคลื่นความถี่ 4G

6. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เห็นชอบการกำหนดกรอบการให้สินเชื่อของ ธพว.ต่อรายไม่เกิน 30 ล้านบาท เพื่อเป็นการสนับสนุน SME แต่ละประเภทให้เหมาะสมต่อไป โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลังเร่งกำกับดูแล ธพว.ให้ปล่อยสินเชื่อมีความรัดกุมรอบคอบตามผลการตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน

7. ส่วนการจำหน่ายและนำหุ้นบริษัท บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น ที่ประชุมอนุมัติในหลักการให้มีการจำหน่ายและนำหุ้น บสก.เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยควรนำหลักเกณฑ์การกระจายหุ้นรัฐวิสาหกิจให้ประชาชนทั่วไป ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2547 มาถือปฏิบัติเพื่อให้การกระจายหุ้นของ บสก. มีความโปร่งใส เป็นธรรม และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจอย่างแท้จริง ทั้งนี้ สำหรับสัดส่วนการจำหน่ายหุ้นเป็นนโยบายที่สำคัญ จึงเห็นควรให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พิจารณาความเหมาะสมและนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ ในเรื่องการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ คนร.ได้เห็นชอบแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม และบทบาทที่คาดหวังของรัฐวิสาหกิจในสาขาสื่อสารโทรคมนาคม สาธารณูปการ โดยให้มุ่งเน้นการสร้างความสมบูรณ์ของโครงสร้างอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เอกชนสามารถเข้าร่วมเป็นผู้ประกอบการเพื่อส่งเสริมการแข่งขันในแต่ละสาขาได้อย่างเท่าเทียม และการดำเนินการอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรของประเทศและการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน

โดยสำหรับภาคอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคม ในภาพรวมมีการแข่งขันโดยสมบูรณ์แล้ว ทั้งนี้มอบหมายให้กระทรวง ICT เพิ่มบทบาทการกำกับดูแลในฐานะผู้กำหนดนโยบายการพัฒนาภาคสื่อสารโทรคมนาคมให้มากยิ่งขึ้น และสำหรับอุตสาหกรรมด้านสาธารณูปการกำหนดให้มีกลไกการกำกับดูแลด้านการผลิตน้ำประปาให้ครบวงจรยิ่งขึ้น เละสนับสนุนการบูรณาการของหน่วยงานด้านน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคโดยเฉพาะด้านการจัดการน้ำเสีย

นายกุลิศ กล่าวด้วยว่า คนร.ได้เห็นชอบให้ร่างกฎหมายที่จะจัดทำขึ้นตามมติ คนร.ครั้งที่ 4/2558 มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดรูปแบบการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจออกเป็น 2 ระบบ เพื่อกำหนดกรอบแนวทางการพัฒนาประเทศให้เหมาะสมกับภารกิจและหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจโดยในส่วนของรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของรัฐวิสาหกิจดังกล่าวให้มีความโปร่งใสและมีมาตรฐาน และในส่วนของรัฐวิสาหกิจที่มีสถานะเป็นบริษัทให้มีการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติที่มีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐและไม่เป็นส่วนราชการเพื่อยกระดับการทำหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัททั้ง 12 แห่งให้ทัดเทียมกับมาตรฐานสากล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ