กสท.เตรียมถกปมช่อง 7 ขอขยายเวลาชำระค่าธรรมเนียมในอนุญาตวันพรุ่งนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday May 24, 2015 12:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) ในวันพรุ่งนี้(25 พ.ค.) มีวาระการประชุมที่น่าสนใจ ได้แก่ การขอขยายกำหนดระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีของใบอนุญาตเพื่อให้ใช้คลื่นความถี่ระบบอนาล็อก ของสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ตามที่บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ ได้ส่งหนังสือแจ้งว่าตามประกาศ กสทช.เรื่องค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ พ.ศ.2555 ได้กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมภายใน 150 วันนับจากสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีแต่ยังไม่ได้รับแจ้งความคืบหน้า จึงขอให้ กสท.พิจารณาอนุญาตขยายระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีของช่อง 7 อนาล็อก ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่บริษัทฯ รับทราบผลการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา

กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากการขออุทธรณ์ของบริษัท กรุงเทพฯ ว่าเป็นผู้รับใบอนุญาตฯ ตามมาตรา 75 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาต แม้ว่าตามมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 จะกำหนดให้บรรดาหน่วยงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการโทรทัศน์ไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วนต้องเสียค่าธรรมเนียมด้วยนั้น แต่ก็ไม่สามารถใช้บังคับกับกลุ่มผู้รับใบอนุญาต สัมปทาน และสัญญาจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐได้ เนื่องจากวัตถุประสงค์ในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมกับการขออนุญาตโดยตรง แต่ บ.กรุงเทพฯเป็นเพียงผู้ใช้สิทธิของผู้ขอรับใบอนุญาต(กองทัพบก)อีกช่วงหนึ่ง และเป็นผู้ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯอยู่ก่อนแล้วจึงไม่มีหน้าที่ชำระเงิน ซึ่งมติ กสท.ครั้งที่ 51/57 ได้มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. หารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาประเด็นข้อกฎหมาย กรณีผู้ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 75 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ มีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมหรือไม่ อย่างไร

"ต้องดูว่า กสท.จะลงมติให้ช่อง 7 เลื่อนเวลาการจ่ายค่าธรรมเนียมการกำกับดูแลในระบบอนาล็อกไปก่อนหรือไม่ ผลการตัดสินกรณีของช่อง 7 ที่รอคำตอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกา จะเป็นบรรทัดฐานให้ทีวีอนาล็อกในระบบสัมปทานอื่นๆ เช่น ช่อง 3 ด้วย" น.ส.สุภิญญา กล่าว

ส่วนกรณีการจ่ายเงินค่าธรรมเนียมการประมูลดิจิตอลทีวีนั้น นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า ขอบคุณทีวีดิจิตอลที่มาจ่ายเงินค่าธรรมเนียม พร้อมรับฟังคำตำหนิ สิ่งที่ กสทช.ควรทำคือเร่งทำงานแก้ปัญหา 3 เรื่องหลัก ได้แก่ โครงข่ายภาคพื้นดิน มีความคืบหน้ามากขึ้น กำลังจะครอบคลุม 80%ในเดือนหน้า ส่วนความคมชัดภาคดาวเทียม กำลังเร่งแก้ปมปัญหาด้านเทคนิค ด้านการแจกคูปองดิจิตอลทีวีต้องจี้งานกับไปรษณีย์ที่ค้างส่งกว่าล้านใบ รวมทั้งความเรียบร้อยการแจกคูปองล็อตสุดท้ายที่เริ่มแจกไปแล้วตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา รวมทั้งสอบถาม คสช.เรื่องขออนุมัติให้แจกคูปองครัวเรือนที่ไม่มีเจ้าบ้าน ผู้มีรายได้น้อยเพิ่ม ตามที่ กสทช. สัญญาไว้จะแจกคูปอง 22 ล้านครัวเรือน

"การทำความเข้าใจประชาสัมพันธ์โครงการทีวีดิจิตอล บอร์ด กสทช.ได้อนุมัติงบประมาณ 63 ล้านบาท ไปตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ สำนักงาน ยังจัดซื้อจัดจ้างไม่เสร็จ ล่าสุด สำนักงานได้รับปากว่าจะเปิดให้เอกชนมาประมูลทำโครงการประชาสัมพันธ์ระดับชาติปลายเดือนนี้ ขอเป็นจริงเช่นนั้น ล่าสุด คสช. อนุมัติให้ขยายเวลาในการใช้คูปองได้อีก 2 เดือน ส่วนล็อตใหม่มีเวลาในการใช้ 6 เดือน ฝาก สำนักงาน เร่งประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ห่างไกลด้วย เนื่องจากโครงการคูปองทีวีต้องใช้งบหลักหมื่นล้าน กสทช. ต้องขอความเห็นชอบจาก คตร. ซึ่งเป็นกลไกของ คสช. ก่อนในทุกกรณี จึงทำให้ช้าบ้าง ถ้าผ่านระยะคอขวดนี้ไปได้ ทีวีดิจิตอลที่อยู่ยั่งยืน จะต้องภูมิใจตนเอง สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ของอุตสาหกรรม ยืนหยัดด้วยลำแข้ง ตามกติกาที่โปร่งใส และ รักษาผลประโยชน์รัฐได้ ครบ การที่รัฐไม่ผ่อนผัน และ การที่เอกชนใช้สิทธิ์สู้ทางศาล กดดันทางสังคมแบบเปิดเผย สร้างวัฒนธรรมใหม่ของการกำกับดูแลอุตสาหกรรมทีวีในระบบใบอนุญาคที่ต่างจากระบบสัมปทาน" น.ส.สุภิญญา กล่าว

ส่วนกรณีข้อพิพาทการถือหุ้นของ SLC ใน NMG ที่ล่าสุดบอร์ดใหญ่ กสทช. มีมติให้ กสท. กลับมาพิจารณาใหม่ ปรากฏว่า สำนักงานฯ ยังไม่เสนอวาระเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม กสท.ในวันพรุ่งนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ