หอการค้า 5 ภาค ส่งสัญญาณเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังเริ่มฟื้นตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 25, 2015 11:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมเกียรติ อนุราษฎร์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยได้จัดการประชุมใหญ่หอการค้าภาค 5 ภาค ประจำปี 2558 เพื่อระดมความคิดเห็นในการขับเคลื่อนการดำเนินงานระหว่างหอการค้าไทยและหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ ในการทบทวนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคต่างๆ ให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในการเสริมสร้างองค์กรให้เกิดความเข้มแข็ง และการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของสมาชิกผู้ประกอบการทั่วประเทศ รวมทั้งยังเป็นการสำรวจความคิดเห็นต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั้ง 5 ภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ตลอดจนการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน พบว่าตามข้อเท็จจริงแล้วมีข้อมูลจากหลายๆ หน่วยงาน ได้เริ่มส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจได้ถึงจุดต่ำสุดแล้ว และกำลังจะปรับตัวดีขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป

"แต่ในส่วนความรู้สึกของประชาชนอาจจะยังไม่ค่อยเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเท่าที่ควร คงต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง คาดว่าเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังนี้จะค่อยๆ กระเตื้องขึ้น" นายสมเกียรติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคจากหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ พบว่า เศรษฐกิจภาคทั้ง 5 ภาคโดยรวมแล้วจะปรับตัวดีขึ้น เป็นการส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจกำลังการฟื้นตัว ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นไปตามที่หลายๆ หน่วยงานได้คาดการณ์ไว้

นายปรัชญา สมะลาภา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก หอการค้าไทย กล่าวว่า สถานการณ์ภาวะธุรกิจภาคตะวันออก พบว่า ในปัจจุบันสถานการณ์ทางด้านผลประกอบการยังคงชะลอตัวลง แต่เริ่มมีสัญญาณของการฟื้นตัวขึ้น จากผู้ประกอบการกว่าร้อยละ 37.1 ที่เริ่มรับรู้ถึงกำไรที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้เป็นผลมาจากยอดขายที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันต้นทุนก็ปรับตัวสูงขึ้นเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังพบว่า การลงทุนของภาคธุรกิจ การจ้างงาน และยอดรับคำสั่งซื้อ ที่ปัจจุบันมีสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้แล้วราคาขายของธุรกิจยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจาก 3 เดือนที่ผ่านมา และคาดว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้า ทางภาคตะวันออกเชื่อว่ายอดรับคำสั่งซื้อของธุรกิจที่เริ่มกลับมา จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามายากต่อเนื่อง รวมทั้งสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจน่าจะมีทิศทางที่ปรับตัวดีขึ้น จึงเป็นสาเหตุที่สำคัญต่อการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจของภาคตะวันออก

แนวโน้มภาวะธุรกิจในอนาคตของภาคตะวันออก พบว่า มีแนวโน้มของการปรับตัวดีขึ้นเกือบทุกรายการ ยกเว้นทางด้านต้นทุนที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ขณะที่ระดับราคาขายนั้นพบว่า ผู้ประกอบการอาจมีการปรับขึ้นราคาเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน โดยมีผู้ประกอบการร้อยละ 35.1 คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เป็นผลมาจากสถานการณ์ทางด้านต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นสำคัญ

ว่าที่ร้อยเอกจิตร์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง หอการค้าไทย กล่าวว่า สถานการณ์ที่ผ่านมาของภาคกลางยังคงมีสัญญาณของการชะลอตัวลง ทั้งนี้เนื่องจากภาคกลางยังคงประสบกับปัญหาทางด้านของระดับราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะทางด้านของข้าวซึ่งถือเป็นพืชหลักของภาคกลาง ทำให้การบริโภคยังคงชะลอตัว ส่วนทางด้านภาคที่ยังคงมีการขยายตัวได้ดีในภาคกลาง ได้แก่ ภาคการค้าชายแดน และภาคบริการ

สถานการณ์ธุรกิจใน 3 เดือนข้างหน้าของภาคกลาง ยังพบว่าผลประกอบการของธุรกิจหรือกำไร และยอดจำหน่ายยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่การลดลงนั้นมีสัดส่วนที่ลดลงจากปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ของภาคธุรกิจมีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน โดยเฉพาะทางด้านของการลงทุนของภาคเอกชนที่คาดว่าจะมีแนวโน้มของการลงทุนมากขึ้น เพราะภาคธุรกิจส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 50 จะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้จะพบว่าสินค้าคงเหลือยังมีแนวโน้มลดลง แสดงให้เห็นว่าการขายหรือการจำหน่ายสินค้าใน 3 เดือนข้างหน้าจะมีมากขึ้น รวมทั้งความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจใน 3 เดือนข้างหน้าน่าจะปรับดีขึ้นกว่าในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของต้นทุนของภาคธุรกิจยังคงเป็นสถานการณ์ที่มีต้นทุนสูงอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบัน

นายประพันธ์ เตชะสกลกิจกูร ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หอการค้าไทย กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือในปัจจุบันมีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่องจาก 3 เดือนที่ผ่านมา โดยภาคธุรกิจที่มีความโดดเด่นที่สุดได้แก่ การค้าชายแดน ที่ยังคงปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกันกับภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนภาคเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มหดตัวลงอย่างมาก คือ ภาคเกษตรกรรม ภาคการค้า และภาคอุตสาหกรรม อันเป็นผลมาจากการชะลอตัวลงของการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนภายในพื้นที่

จากการคาดการณ์สถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ภาวะเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีแนวโน้มซึมตัวลงต่อเนื่อง ส่วนภาคเศรษฐกิจที่มีสัญญาณของการฟื้นตัวอย่างชัดเจน คือ ภาคการค้าชายแดน และการท่องเที่ยว ในขณะที่ภาคเศรษฐกิจที่เริ่มจะมีสัญญาณของการฟื้นตัวในอีก 3 เดือนข้างหน้า คือ ภาคบริการ อย่างไรก็ตาม ภาวะธุรกิจในอนาคตก็ยังมีสัญญาณเชิงบวกในเรื่องของการลงทุน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะ 3 เดือนข้างหน้า เพื่อรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ การก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ และการเปิด AEC

นายวิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ หอการค้าไทย กล่าวว่า สถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจของภาคเหนือในปัจจุบันยังคงมีสัญญาณของการชะลอตัวลงในปัจจุบัน ทั้งนี้จะเห็นได้จากสถานการณ์การบริโภค และการลงทุนภายในภูมิภาคยังคงมีสัญญาณของการชะลอตัวลง นอกจากนี้ภาคการผลิตไม่ว่าจะเป็นภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และบริการ ก็ยังคงมีสัญญาณของการชะลอตัวลงเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางด้านการท่องเที่ยว และการค้าชายแดนยังคงดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาคเหนือในปัจจุบัน

แนวโน้มของสถานการณ์เศรษฐกิจใน 3 เดือนข้างหน้าของภาคเหนือเริ่มมีสัญญาณของการฟื้นตัวขึ้นจากปัจจุบัน โดยภาคที่มีการปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดได้แก่ ภาคการเกษตรที่มีแนวโน้มดีขึ้นกว่าปัจจุบัน ส่วนทางด้านของการท่องเที่ยว และการค้าชายแดนยังคงเป็นปัจจัยหลักของภาคที่ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือให้ดีขึ้น ธุรกิจเริ่มที่จะลงทุนมากขึ้นในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดังจะเห็นได้จากการลงทุนภาคธุรกิจ และการจ้างงานที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ แล้วสถานการณ์ความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในภาคเหนือนั้น มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นกว่าในปัจจุบัน

นายวัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ หอการค้าไทย กล่าวว่า สถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจของภาคใต้ในปัจจุบันพบว่า มีสัญญาณที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก เมื่อเทียบจากช่วงที่ 3 เดือนที่ผ่านมา โดยจะเห็นได้จากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันอยู่ในระดับแย่ ถึงร้อยละ 51.7 ในระดับปานกลางร้อยละ 16.1 และเมื่อพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นทางภาคการค้า ภาคการค้าชายแดน และภาคการบริโภค ส่วนใหญ่อยู่ในระดับแย่ถึงปานกลาง มีเพียงภาคบริการที่ยังมีแนวโน้มที่ดีอยู่

สถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจของภาคใต้ในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ภาวะเศรษฐกิจของภาคใต้เริ่มมีสัญญาณของการฟื้นตัวขึ้นในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่จะเป็นแรงผลักดันให้เศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้ฟื้นตัวรวมภาคการค้า บริการ และภาคการเกษตร มีเพียงภาคอุตสาหกรรมที่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แต่ก็ทิศทางที่ปรับตัวดีขึ้น ภาวะธุรกิจในอนาคตของภาคใต้ ยังมีแนวโน้มของการปรับตัวดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางด้านของกำไร ยอดขาย ยอดรับคำสั่งซื้อ ส่วนการลงทุนของภาคธุรกิจ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ระดับราคาขาย การจ้างงาน สินค้าคงเหลือ และขีดความสามารถในการแข่งขัน ผู้ประกอบการคาดการณ์ว่ายังเท่าเดิมไม่เปลี่ยนแปลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ