สศช.เผยหนี้ครัวเรือน Q1/58 ชะลอลง แต่จับตา"นาโนไฟแนนซ์"ส่งผลตัวเลขพุ่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 25, 2015 14:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยรายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาส 1 ปี 2558 พบว่า แนวโน้มหนี้สินครัวเรือนชะลอตัวลง โดย ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 2558 ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 ในไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว โดยหนี้สินที่ที่ก่อให้เกิดสินทรัพย์ และกึ่งสินทรัพย์ (ที่ดิน ที่อยู่อาศัย และรถยนต์และรถจักรยานยนต์) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 ในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว

ส่วนหนึ่งเนื่องจากการก่อหนี้เพื่อซื้อรถยนต์ลดลงต่อเนื่องร้อยละ 4.0 จากการปล่อยสินเชื่อไปก่อนหน้านี้ในช่วงที่มีมาตรการคืนภาษีรถยนต์คันแรก ทำให้เกิดอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นเกินความเป็นจริง สำหรับหนี้เพื่อการบริโภคอื่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 ชะลอลงจากร้อยละ 17.6 ในช่วงเดียวกันปีที่แล้วมูลค่าหนี้เสียเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 2558 หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มีมูลค่า 92,426 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.0 และมีสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมร้อยละ 2.6 สินเชื่อภายใต้การกำกับผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.4 คิดเป็นมูลค่า 15,469 ล้านบาท และเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.9 ของสินเชื่อภายใต้การกำกับรวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ยอดคงค้างชำระบัตรเครดิตเกิน 3 เดือน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 22.0 คิดเป็นมูลค่า 8,933 ล้านบาท และเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.1 ต่อยอดคงค้างรวมเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

หนี้สินครัวเรือน ณ สิ้นปี 2557 มีมูลค่า 10,432,529 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 ชะลอตัวลง และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 79.3 ต่อ GDP

ทั้งนี้ ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน รัฐบาลมีมาตรการบรรเทาผลกระทบปัญหาหนี้สินครัวเรือน โดยมีโครงการปลด หนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ และขยายระยะเวลาชำระหนี้สำหรับเกษตร การชะลอการฟูองร้องดำเนินคดี การพักหนี้และการลด ดอกเบี้ยสำหรับหนี้สินครู การจัดตั้งนาโนไฟแนนซ์และโครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ และโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย

ทั้งนี้การเปิดดำเนินการของธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ซึ่งเป็นช่องทางเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับผู้กู้รายย่อยอาจส่งผล ให้มูลค่าของการกู้ยืมนอกระบบปรากฏในระบบบัญชีหนี้สินครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องติดตามผลการดำเนินงานของธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ในระยะต่อไป อย่างไรก็ดีการกู้ยืมเงินนอกระบบที่ถูกนำเข้าสู่ระบบบัญชีหนี้สินครัวเรือน ก็จะทำให้มีการบริหารจัดการและการติดตามอย่างเป็นระบบมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้การตรวจสอบและการคุ้มครองลูกหนี้สามารถดำเนินการได้อย่างครอบคลุมทั่วถึง และมีความเป็นธรรมกับลูกหนี้มากขึ้น นอกจากนี้ สศช. ได้เปรียบเทียบสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนไทยกับประเทศต่างๆ ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ มีสัดส่วนหนึ้สินครัวเรือนต่อ GDP สูงเกือบเท่าตัวหรือมากกว่า อาทิ เดนมาร์ก ออสเตรเลีย แคนาดา และอังกฤษ สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP เท่ากับ ร้อยละ 129.1 115.6 92.5 และ 91.8 ตามลำดับ

ในภูมิภาคเอเชีย หนี้สินครัวเรือนต่อ GDP ของ “ประเทศไทย” สูงเป็นอันดับที่สาม รองลงมาจากประเทศมาเลเซีย ร้อยละ87.9 เกาหลีใต้ร้อยละ 81.3 และไทย ร้อยละ 79.4 ขณะที่ประเทศญี่ปุน ฮ่องกง และสิงคโปร์ มีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP เท่ากับร้อยละ 64.8 63.0 และ 60.6 ตามลำดับ

ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของหนี้สินครัวเรือน ได้แก่ อัตราดอกเบี้ย รายได้ และกฏระเบียบ โดยอัตราดอกเบี้ยแท้จริงที่สูงขึ้น (หรือลดลง) จะทำให้ภาระหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น (หรือลดลง) รายได้แท้จริงที่เพิ่มขึ้น (ลดลง) ก็จะทำให้ครัวเรือนมีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยและชำระหนี้เพิ่มขึ้น (ลดลง) ขณะที่กฏระเบียบที่ผ่อนปรนและยืดหยุ่นก็จะช่วยให้มีการจัดการบริหารหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่สูง อาจไม่ได้ส่งผลกระทบที่รุนแรงเสมอไป แต่หนี้ครัวเรือนอาจจะกลายเป็นข้อจำกัดต่อการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเป็นข้อจำกัดต่อการใช้นโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายภาคเอกชนโดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว นอกจากนั้น หากการคุ้มครองทางสังคมอ่อนแอ และเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น การเจ็บป่วย/อุบัติเหตุ/ภัยพิบัติมากระทบ เป็นต้น ก็จะส่งผลให้ครัวเรือนที่เป็นหนี้มีความอ่อนไหวต่อสถานการณ์มากกว่ากลุ่มอื่น โดยเฉพาะครัวเรือนที่ไม่มีการสะสมการออม และนำไปสู่การเกิดเป็นปัญหาสังคมอื่นๆ ได้ ทั้งอาชญากรรม ยาเสพติด เป็นต้น)

สภาพัฒน์ ยังรายงานถึง ความคืบหน้ามาตรการสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อย (นาโนไฟแนนซ์) กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมกันจัดทำมาตรการสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อย (สินเชื่อ Nano-Finance) โดยอนุญาตให้นิติบุคคลประเภทใหม่ในระบบสถาบันการเงินไทย เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้ผู้ประกอบอาชีพรายย่อย และกำหนดแนวทางการประกอบธุรกิจสินเชื่อให้มีความเป็นธรรม ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค แก้ปัญหาภาระดอกเบี้ย จากการกู้ยืมนอกระบบที่สูงจนเกินควร โดยปิดช่องโหว่ของการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่ไม่สามารถดำเนินการได้ คือ ปล่อยกู้โดยไม่มีหลักประกัน ลดการพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ

ปัจจุบันมีธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ได้รับใบอนุญาต 5 ราย ประกอบด้วย บริษัท เงินสดทันใจ จำกัด, บริษัท ไทยเอช แคปปิตอล จำกัด, บริษัท แมคคาเล กรุ๊ฟ จำกัด (มหาชน), บริษัท สหไพบูลย์ (2558) จำกัด และบริษัท ไอร่า แอนด์ ไอฟุล จำกัด (มหาชน) และยังมีอยู่อีก 16 บริษัทที่ยื่นคำขอ (ข้อมูล ณ วันที่ 22 เมษายน 2558) ทั้งนี้ ในการเปิดดำเนินการนั้น ผู้ประกอบธุรกิจต้องเปิดดำเนินธุรกิจภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ รมว.การคลังอนุญาต และแจ้งการเริ่มประกอบธุรกิจให้ ธปท.ทราบก่อนวันเปิดดำเนินการ และต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินรวมทั้งสิ้นต่อส่วนของผู้ถือหุ้นไม่เกิน 7 เท่าตลอดระยะเวลาในการดำเนินธุรกิจ

ด้านทุนจดทะเบียน กระทรวงการคลังกำหนดให้ผู้ประกอบการนาโนไฟแนนซ์มีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท และยังห้ามรับฝากเงินจากประชาชนทั่วไป ทำให้เงื่อนไขของทุนจดทะเบียนเป็นตัวกำหนดขอบเขตของการปล่อยสินเชื่อคือ ปล่อยกู้ได้ภายในวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท

ส่วนการจัดทำรายงานส่งทางการ ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดทำรายงานยอดสินเชื่อคงค้างเป็นรายเดือนนับแต่เดือนที่เปิดดำเนินการ ส่งให้ ธปท. และกระทรวงการคลังทราบภายในวันที่ 21 ของเดือนถัดไป กลุ่มเปูหมายคือ ผู้ที่กู้เงินนอกระบบและผู้ที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน ที่มีประมาณ 2-3 ล้านครัวเรือน เพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนในการขอสินเชื่อรายย่อยที่มีรายได้น้อยและไม่มีหลักประกัน คุณสมบัติของผู้กู้ต้องเป็นบุคคลธรรมดาที่จะมีหรือไม่มีหลักประกันในการกู้ก็ได้ กำหนดปล่อยสินเชื่อไม่เกินรายละ 100,000 บาท เพียงพอต่อการเป็นทุนในการประกอบกิจการต่างๆ แต่ไม่ให้สูงเกินไป และมีอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี หรือร้อยละ 3 ต่อเดือน

ด้านการจ้างงานไตรมาสที่หนึ่งปี 2558 ผู้มีงานทำ37,611,521 คน ลดลงร้อยละ 0.5 โดยสภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยหลายพื้นที่ประสบภาวะภัยแล้ง ประกอบกับเป็นช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยว และการปรับตัวของการเพาะปลูกข้าวที่ลดลง หลังจากยุติมาตรการจำนำข้าว ทำให้ผู้มีงานทำภาคเกษตรลดลง ร้อยละ 4.4 จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว และมีผู้รอฤดูกาลเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.8 ขณะที่การจ้างงานภาคนอกเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 ตามการฟื้นตัวของภาคการผลิต ก่อสร้างและโรงแรมและภัตตาคาร ทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในสาขาการผลิตร้อยละ 1.2 การก่อสร้างร้อยละ 1.9 โรงแรมและภัตตาคารร้อยละ 2.3 การ ขนส่งร้อยละ 0.2 การศึกษาร้อยละ 3.5 ขณะที่การขายส่งขายปลีกลดลงร้อยละ 2.6

ส่วนอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ไตรมาสแรกของปี 2558 มีผู้ว่างงาน 361,297 คน อัตราการว่างงานเท่ากับ ร้อยละ 0.94 ใกล้เคียงกับอัตราการว่างงานร้อยละ 0.89 ในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว โดยการว่างงานของกลุ่มที่เคยทำงานมาก่อนมีจำนวน 197,138 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 สำหรับการว่างงานในกลุ่มผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อนมีจำนวน 164,159 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว สอดคล้องกับการเอาประโยชน์ทดแทนในกรณีการว่างงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีจำนวน 149,967คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 โดยเป็นการเลิกจ้างจำนวน 19,198 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 ขณะที่เป็นการลาออกจำนวน 130,769 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4

ในส่วน รายได้แรงงานภาคเอกชนเฉลี่ยเท่ากับ 11,678 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 แต่เงินเฟ้อที่ติดลบเฉลี่ยร้อยละ 0.5 ทำให้รายได้แรงงานภาคเอกชนแท้จริงเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4.6 เทียบกับที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.3 ในไตรมาสเดียวกันปี 2557 อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาค่าจ้างแรงงานภาคเกษตรและนอกเกษตร พบว่า ค่าจ้างแรงงานแท้จริงภาคเกษตรลดลงร้อยละ 0.3 ขณะที่ภาคนอกเกษตรได้รับค่าจ้างแรงงานแท้จริงเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 ผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2

สำหรับประเด็นสังคมที่ต้องเฝ้าระวังในระยะต่อไป อาทิ คุณภาพชีวิตแรงงานอันเนื่องมาจากปัจจัยผลกระทบต่างๆ ได้แก่ ปัญหาภัยแล้งการขาดแคลนแรงงานคุณภาพ แรงงานจบใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในช่วงกลางปี 2558 และการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวโดยควรเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการนำแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนมายื่นพิสูจน์สัญชาติก่อนสิ้นสุดระยะเวลา รวมถึงการเข้มงวดในการจับกุมลักลอบเข้าเมืองผิดกฏหมาย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ