เงินบาทปิด 33.58/59 อ่อนค่าตามภูมิภาค หลังตัวเลขศก.สหรัฐหนุนดอลล์แข็ง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 25, 2015 17:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงิน เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 33.58/59 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าต่อจากช่วงเช้าเปิดตลาดที่ระดับ 33.48/50 บาท/ดอลลาร์

วันนี้เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าต่อเนื่องตลอดทั้งวัน สาเหตุหลักน่าจะมาจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ประกาศออกมาเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะตัวเลขเงินเฟ้อ(CPI) ปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน จึงทำให้ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ขณะที่สกุลเงินในภูมิภาคปรับตัวอ่อนค่าลงเช่นกัน

"บาทอ่อนค่าลงต่อเนื่องตลอดทั้งวัน น่าจะเป็นเพราะตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ เมื่อปลายสัปดาห์ออกมาดี บาทจึงอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคก็อ่อนค่าลงเช่นกัน" นักบริหารเงินระบุ

นักบริหารเงิน คาดว่า พรุ่งนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.50-33.70 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • ปิดตลาดเย็นนี้ เงินเยนอยู่ที่ระดับ 121.52/54 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 121.67 เยน/ดอลลาร์
  • ส่วนเงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.076/0979 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.0683 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,508.16 ลดลง 15.70 จุด (-1.03%) โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 27,733 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติซื้อสุทธิ 952.12 ลบ.(SET+MAI)
  • สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย.58 อยู่ที่ระดับ 86.2 ลดลงจากระดับ 87.7 ในเดือนมี.ค.58 โดยปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 7 เดือน นับตั้งแต่เดือนต.ค.57

ปัจจัยลบที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย และปัญหาภัยแล้ง ส่งผลต่อการบริโภคและการใช้จ่ายโดยเฉพาะในภาคเกษตร สะท้อนจากดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายภายในประเทศปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสภาพคล่องของการดำเนินกิจการ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม

  • สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยรายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาส 1/58 พบว่า แนวโน้มหนี้สินครัวเรือนชะลอตัวลง โดยสิ้นไตรมาส 1/58 ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น 7.6% ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้น 10.7% ในไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว

โดยหนี้สินที่ที่ก่อให้เกิดสินทรัพย์ และกึ่งสินทรัพย์(ที่ดิน ที่อยู่อาศัย และรถยนต์-รถจักรยานยนต์) เพิ่มขึ้น 5.9% ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้น 8.5% ในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว สำหรับหนี้เพื่อการบริโภคอื่นเพิ่มขึ้น 12.4% ชะลอลงจาก 17.6% ในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว

  • หอการค้าไทย จัดการประชุมใหญ่หอการค้าภาค 5 ภาค ประจำปี 2558 พบว่าตามข้อเท็จจริงแล้วมีข้อมูลจากหลายๆ หน่วยงาน ได้เริ่มส่งสัญญาณว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยได้ถึงจุดต่ำสุดแล้ว และกำลังจะปรับตัวดีขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป
  • นายนิคอส โวทซิส รมว.มหาดไทยของกรีซ เปิดเผยว่า กรีซคงจะไม่สามารถชำระหนี้หนี้ให้กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในงวดเดือนมิ.ย.ได้ นอกเสียจากว่ากรีซจะบรรลุข้อตกลงกับเจ้าหนี้ต่างประเทศเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินเพิ่มเติม
  • ธนาคารกลางอังกฤษ(BOE) ทำรายงานประเมินความเสี่ยงและผลพวงต่างๆ หากอังกฤษถอนตัวจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป(EU) ภายใต้ชื่อ "Project Bookend" ที่ระบุถึงประเด็นต่างๆ เรื่องเศรษฐกิจและการเงินที่จะเกิดขึ้นจากสถานการณ์ดังกล่าว
  • จีนมีแนวโน้มที่จะประกาศโครงการนำร่องการปฏิรูปภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ชุดสุดท้าย ในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และการบริการด้านการเงินในช่วงต้นเดือนมิ.ย. ซึ่งหากการปฏิรูป VAT มีผลบังคับใช้ การทดสอบครั้งใหม่นี้จะทำให้จีนสามารถยกเลิกการจัดเก็บภาษีธุรกิจ และเปลี่ยนแปลงจากการเก็บภาษีธุรกิจไปเป็นภาษี VAT ทั่วประเทศได้อย่างสมบูรณ์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ