(เพิ่มเติม) พาณิชย์เผยส่งออกเม.ย.58 ติดลบ 1.7%นำเข้าหด 6.84%ขาดดุลฯ 523ล้านเหรียญฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 26, 2015 11:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ แถลงมูลค่าการค้าระหว่างประเทศในรูปของเงินเหรียญสหรัฐว่า การส่งออกเดือนเมษายน 2558 มีมูลค่า 16,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ -1.70 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) และในช่วง 4 เดือนแรก คือ เดือนมกราคม-เมษายน 2558 มีมูลค่า 70,265 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ -3.99 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (AoA)

ขณะที่การนำเข้าเดือนเมษายน 2558 มีมูลค่า 17,423 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ -6.84 (YoY) และในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2558 มีมูลค่า 69,359 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ -6.53 (AoA) ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศเดือนเมษายน 2558 ขาดดุล 523 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ในช่วง 4 เดือนแรก คือ เดือนมกราคม-เมษายน 2558 เกินดุล 906 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

"การส่งออกของไทยเดือนเมษายน 2558 สถานการณ์ในภาพรวมส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น โดยชะลอตัวในอัตราที่ลดลง และยังคงรักษาส่วนแบ่งการตลาด (Market Share) ในตลาดสำคัญไว้ได้ ประกอบกับการส่งออกสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรในกลุ่มสินค้าที่มีปัญหา หดตัวในอัตราที่ชะลอลง ในขณะที่การส่งออกกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมถึงแม้จะยังคงหดตัว แต่เป็นการหดตัวในอัตราที่ลดลงเช่นเดียวกัน"เอกสารกระทรวงพาณิชย์ ระบุ

ส่วนมูลค่าการค้าระหว่างประเทศในรูปของเงินบาท การส่งออกเดือนเมษายน 2558 มีมูลค่า 548,461 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -0.50 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) และในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน 2558 มีมูลค่า 2,280,954 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -3.52 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (AoA) ในขณะที่การนำเข้าเดือนเมษายน 2558 มีมูลค่า 572,284 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -5.66 (YoY) และในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน 2558 มีมูลค่า 2,278,488 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -6.01 (AoA) ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศเดือนเมษายน 2558 ขาดดุล 23,823 ล้านบาท และในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน 2558 เกินดุล 2,466 ล้านบาท

สำหรับปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อการส่งออก การส่งออกของไทยที่ยังคงหดตัว เกิดจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักในปัจจุบันที่ชะลอตัว เนื่องจากกำลังซื้อในตลาดโลกยังคงลดลง โดยเฉพาะสหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่นและอาเซียนที่มีมูลค่าการนำเข้ารวมจากทั่วโลกลดลงอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย อย่างไรก็ดี ปัจจัยภายนอกที่ส่งสัญญาณดีขึ้น ได้แก่

1) การนำเข้าของประเทศคู่ค้าสำคัญเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว โดยการนำเข้าของสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และจีน หดตัวในอัตราที่ลดลง สอดคล้องกับการที่ไทยยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาดในตลาดสำคัญได้ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย เป็นต้น

2) ค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าเมื่อเทียบกับคู่ค้าคู่แข่ง และมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง จากการใช้มาตรการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และมาตรการผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้ายของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะส่งผลช่วยหนุนให้การส่งออกปรับตัวในทิศทางดีขึ้นในระยะต่อไป

3) ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จากอุปทานในตลาดโลกที่เริ่มลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากการที่บริษัทน้ำมันในสหรัฐอเมริกายกเลิกการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil)

ตลาดส่งออก โดยตลาดสหรัฐอเมริกา และกลุ่ม CLMV ยังมีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดจีนกลับมาขยายตัวครั้งแรกในปีนี้ การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาขยายตัวร้อยละ 8.4 (YoY) เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวได้ดีในตลาดสหรัฐอเมริกา ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง สูงขึ้นร้อยละ 38.3, 44.1, 7.1 (YoY) ตามลำดับ เช่นเดียวกับตลาด CLMV ที่มีอัตราการขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.5 (YoY) โดยเฉพาะกัมพูชาและเวียดนาม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการค้าชายแดน

ในขณะที่การส่งออกไปยังตลาดหลักอย่างญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป (15) ลดลงร้อยละ -3.0 และ -3.5 (YoY) ตามลำดับ เป็นผลจากเศรษฐกิจทั้งสองประเทศฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ ประกอบกับการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย (QE) ส่งผลให้ค่าเงินเยนและค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับค่าเงินบาท ทำให้ยอดคำสั่งซื้อชะลอตัว

ขณะที่การส่งออกไปจีน กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในปีนี้ ที่ร้อยละ 1.1 (YoY) โดยเฉพาะมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และผลิตภัณฑ์ยางที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกอย่างมาก หลังจากหดตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี เนื่องจากความต้องการกลับมาเพิ่มขึ้นหลังจากที่ลดการนำเข้าลงจากการที่สามารถผลิตใช้ได้เองภายในประเทศ

ด้านการค้าของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านผ่านช่องทางการค้าชายแดนและผ่านแดนขยายตัวต่อเนื่อง มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 7.9 ของมูลค่าการค้ารวมของไทย โดยมูลค่าการค้าชายแดน (มาเลเซีย เมียนมาร์ สปป.ลาว กัมพูชา) เดือนเมษายน 2558 มีมูลค่า 77,761 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -0.9 (YoY) โดยไทยทำการค้าชายแดนกับมาเลเซียสูงที่สุดมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 47.1 ของการค้าชายแดนรวม ซึ่งลดลงร้อยละ -10.0 (YoY) รองลงมา ได้แก่ เมียนมาร์ สปป.ลาว และกัมพูชา โดยขยายตัวร้อยละ 10.9, 1.8 และ 15.7 (YoY) ตามลำดับ และในภาพรวมไทยได้ดุลการค้าชายแดนรวม 4 ประเทศ เป็นมูลค่า 13,077.7 ล้านบาท

ขณะที่การค้าผ่านแดน (สิงคโปร์ จีนตอนใต้ เวียดนาม) เดือนเมษายน 2558 มีมูลค่า 8,416.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -29.5 (YoY) โดยภาพรวมการค้าผ่านแดนไทยทำการค้ากับจีนตอนใต้สูงสุด ขยายตัวร้อยละ 21.2 (YoY) รองลงมาได้แก่ เวียดนาม ลดลงร้อยละ -37.0 (YoY) ขณะที่การค้าผ่านแดนกับสิงคโปร์ ลดลงร้อยละ –49.9 (YoY) และในภาพรวมไทยได้ดุลการค้าผ่านแดนรวม 3 ประเทศ เป็นมูลค่า 1,032.2 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ