SCB EIC มองส่งออก Q2/58 สัญญาณดีขึ้น แต่คาดทั้งปียังติดลบต่อเนื่อง 1.3%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 26, 2015 17:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่า มูลค่าการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาส 2 มีสัญญาณที่ดีขึ้น แต่อาจไม่เพียงพอที่จะช่วยผลักดันให้การส่งออกไทยทั้งปีกลับมาขยายตัว โดยมูลค่าการส่งออกไทยในช่วง 4 เดือนแรกของปียังคงหดตัวที่ 4.0%YOY แม้ว่าเมื่อเข้าสู่ไตรมาส 2/58 ในเดือนเมษายนมูลค่าการส่งออกไทยมีทิศทางหดตัวน้อยลง ประกอบกับเงินบาทที่มีทิศทางอ่อนค่าลงหลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งจะช่วยพยุงการส่งออกของไทยในระยะต่อไป

อย่างไรก็ดี ยังมีอีกหลายปัจจัยที่กดดันการส่งออกไทย ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันโลกและราคาสินค้าเกษตรที่จะยังคงอยู่ในระดับต่ำ การชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญอย่าง จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป การถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP ในทุกหมวดสินค้าจากสหภาพยุโรป อีกทั้งการประกาศเตือนของสหภาพยุโรปในประเด็นการทำประมงผิดกฎหมายของไทยซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูปไทย และการย้ายฐานการผลิตโทรทัศน์ไปยังเวียดนาม

ดังนั้น ปัจจัยเหล่านี้จะกดดันให้การส่งออกไทยในปีนี้มีโอกาสหดตัวติดต่อกันเป็นปีที่ 3 ราว 1.3%YOY

วันนี้ กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าการส่งออกไทยเดือนเมษายนอยู่ที่ 16,900.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวลง 1.7%YOY (เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) โดยชะลอลงจากไตรมาส 1 ที่หดตัว 4.7%YOY ส่งผลให้ใน 4 เดือนแรกของปีหดตัวแล้วกว่า 4.0%YOY ด้านมูลค่าการนำเข้าเดือนเมษายนนั้นอยู่ที่ 17,423.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวต่อเนื่องที่ 6.8%YOY ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกไทยในเดือนเมษายนลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่ามูลค่าการนำเข้า จึงส่งผลให้ไทยกลับมาขาดดุลการค้าที่ราว 523 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

SCB EIC ระบุว่า การส่งออกของไทยยังคงถูกฉุดด้วยมูลค่าการส่งออกสินค้าที่เชื่อมโยงกับน้ำมันและมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร โดยในเดือนเมษายนนี้ มูลค่าการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และพลาสติกที่มีสัดส่วนทั้งหมดถึง 15% ของการส่งออกไทยปรับตัวลดลงต่อเนื่องที่ 16.8%YOY, 22.2%YOY, และ 13.0%YOY ตามลำดับ

นอกจากนี้มูลค่าการส่งออกของไทยยังถูกกดดันด้วยมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญอย่างข้าวและยางพาราที่ปรับลดลงอีก 2.9%YOY และ 25.9%YOY ในเดือนเมษายน อีกทั้งการส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูปของไทยได้รับผลกระทบจากการถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) จากสหภาพยุโรปและยังถูกกดดันในเรื่องการค้ามนุษย์ ส่งผลให้การส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูปปรับลดลงอีกกว่า 10%YOY ในเดือนเมษายน

ด้านการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับลดลง 1.5%YOY จากการย้ายฐานการผลิตโทรทัศน์ของบริษัทซัมซุงและแอลจีที่หยุดสายการผลิตโทรทัศน์ในไทยทั้งหมดไปเมื่อช่วงไตรมาสแรก เพื่อย้ายไปผลิตที่เวียดนามซึ่งส่งผลให้การส่งออกโทรทัศน์ของไทยลดลงไปราว 5%YOY ในเดือนเมษายน

อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์กลับมาขยายตัวในระดับสูง ประกอบกับการส่งออกรถยนต์ที่สามารถขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง มูลค่าการส่งออกแผงวงจรไฟฟ้ากลับมาขยายตัวในระดับสูงที่ 20%YOY ในเดือนเมษายนหลังจากหดตัวกว่า 10% ในเดือนที่แล้ว จากการส่งออกแผงวงจรไฟฟ้าไปยังตลาดฮ่องกงและสหรัฐฯ ที่กลับมาขยายตัว 37.7%YOY และ 24.4%YOY ประกอบกับการส่งออกแผงวงจรไฟฟ้าไปจีนยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องราว 60%YOY ในเดือนเมษายน

ด้านมูลค่าการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบนั้นขยายตัว 9%YOY ในเดือนเมษายนต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมาที่ปรับเพิ่มขึ้น 5%YOY จากการส่งออกไปยังตลาดหลักอย่างออสเตรเลียที่มีสัญญาณฟื้นตัวแข็งแกร่ง โดยขยายตัวสูงถึง 71.8%YOY นอกจากนี้การส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบไปยังตลาดใหม่อย่าง CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และ เวียดนาม) และสหภาพยุโรปยังขยายตัวได้ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยการส่งออกรถยนต์ไปยังตลาดดังกล่าวในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นถึง 30.6%YOY และ 74.1%YOY ตามลำดับ

มูลค่าการส่งออกไทยไปจีนกลับมาขยายตัวเป็นเดือนแรกของปีนี้ ที่ 1.1%YOY ในเดือนเมษายนจากการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังและแผงวงจรไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นถึง 76%YOY และ 59%YOY ตามลำดับ ด้านการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และ CLMV ในเดือนเมษายนยังขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 8.4%YOY และ 3.5%YOY อย่างไรก็ดีมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปยังคงหดตัวตามเศรษฐกิจของคู่ค้าที่ชะลอลง โดยการส่งออกไปยังประเทศดังกล่าวหดตัวที่ 3%YOY และ 5%YOY ตามลำดับ

ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวต่อเนื่องที่ 6.8%YOY ในเดือนเมษายน จากมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบที่ลดลงอีก 26%YOY ด้านการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนเมษายนปรับขึ้นมาเล็กน้อยที่ 2.8%YOY แต่ทว่ามาจากการนำเข้าเครื่องบินที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ในขณะที่การนำเข้าเครื่องจักรกลและส่วนประกอบยังคงหดตัวที่ 9.8%YOY ด้านการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคปรับลดลงเล็กน้อยที่ 0.2%YOY ส่งผลให้ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้มูลค่าการนำเข้าของไทยลดลงแล้วกว่า 6.5%YOY โดยมูลค่าการนำเข้าที่ลดลงรุนแรงจากราคาน้ำมันดิบโลก ส่งผลให้ไทยยังเกินดุลการค้าในช่วง 4 เดือนแรกของปีที่ 905.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ