นายกฯ สั่งเร่งตั้งเขต ศก.พิเศษภายในปีนี้ มอบมท.ดูแลปัญหาที่ดินราคาสูง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 29, 2015 15:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวภายหลังเป็นเป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับการลงทุนภาคเอกชนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และการส่งเสริมการลงทุนเขตเศรษฐกิจ ว่า ได้สั่งการให้ที่ประชุมฯ ไปเร่งขับเคลื่อนนโยบายตามที่รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ไว้ ซึ่งมีการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ปีนี้รวม 6 แห่ง ซึ่งพบว่ามีปัญหาในเรื่องที่ดินที่มีราคาสูงขึ้น โดยมอบหมายให้ รมว.มหาดไทย ไปดูแล

ส่วนการกำหนดการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้นจะมีทั้งรัฐลงทุนเอง และให้เอกชนเช่าพื้นที่รัฐ ขณะเดียวกันภาคเอกชนก็มีส่วนสำคัญในการดำเนินการ ซึ่งตนเองได้สั่งการให้จัดตั้ง Social Business เป็นศูนย์ที่ผู้ประกอบการต้องตอบสนองและดูแลสังคม โดยดำเนินงานคล้ายกับโครงการหลวงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและโครงการดอยตุงที่ให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วม ทำให้เกิดการเชื่อมโยงห่วงโซ่เศรษฐกิจที่มีคุณภาพ ขณะเดียวกันต้องสอดคล้องกับเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและไม่กระทบต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งจะเร่งรัดการลงทุนให้เกิดขึ้นภายในปีนี้

นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า มีความกังวลเรื่องวิกฤตพลังงาน ปัญหาการจัดการขยะ รวมถึงการย้ายฐานการลงทุนไปประเทศอื่น ดังนั้นจึงต้องเร่งรัดดำเนินการในทุกเรื่อง โดยเฉพาะรัฐบาลจะต้องมีเสถียรภาพและมีความมั่นคง ขณะเดียวกันยุทธศาสตร์เหล่านี้ทางรัฐบาลใหม่ต้องดำเนินการและสานต่อ แต่ปฏิเสธที่จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการขอตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ให้เร่งรัดตามกระบวนการปกติ เพราะต้องดูแลประชาชนที่จะได้รับผลกระทบ

ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐนตรี กล่าวว่า คาดหวังให้พื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก และ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เป็นพื้นที่แรกๆที่ภาคเอกชนจะให้สนใจเข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภายในปีนี้ แต่เป็นเรื่องยากที่จะการขับเคลื่อนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในทุกพื้นที่ได้ และคาดว่ากรมธนารักษ์จะสามารถประกาศอัตราค่าเช่าพื้นที่ระยะเวลา 30-50 ปี ในเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ภายในสัปดาห์หน้า พร้อมทั้งได้ยกตัวอย่างอัตราค่าเช่าในแต่ละพื้นที่ เช่น จ.สระแก้ว หากมาเช่าพื้นเปล่า เปิดให้เช่าในอัตราไร่ละ 32,000 บาท/ปี ส่วนพื้นที่ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้เลยคิดในอัตราไร่ละ 160,000 บาท/ปี ส่วนที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เปิดให้เช่าในอัตราไร่ละ 36,000 บาท/ปี ส่วนพื้นที่ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้เลยคิดในอัตรา 160,000 บาท/ปี แต่จะมีการปรับอัตราค่าเช่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ในทุกๆ 5 ปี โดยขณะนี้มีผู้มาขอบีโอไอแล้วจำนวน 6 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างกำลังพิจารณา และมีผู้จะมาขอบีโอไอเพิ่มอีกกว่า 10 ราย

นอกจากนี้ยังมีสิทธิประโยชน์ด้านอื่นๆด้วย ซึ่งหากผู้ประกอบการใหม่ที่สนใจเข้ามาลงทุน และเปิดบริษัทใหม่ในเขตพื้นที่ดังกล่าว ทั้งการลดอัตราภาษีให้ครึ่งหนึ่ง เช่น จากร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 10 และถ้าขอสิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ จะไม่เรียกเก็บภาษีระยะเวลา 5-8 ปี ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ผู้ที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษทั้ง 6 แห่งนั้นจะมีทั้งภาคเอกชนและภาครัฐผ่านทางนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งผู้ที่สนใจเข้ามาลงทุนต้องยื่นความจำนงขอใช้พื้นที่อย่างไร และยื่นแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ประกอบด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ การจัดหาลูกค้า การพัฒนาสาธารณูปโภค และแผนวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้จะต้องมีหลักเกณฑ์การเข้าไปใช้พื้นที่พร้อมทั้งพิจารณาผลงานที่ผ่านมาของบริษัทนั้นๆ และแผนปฏิบัติของบริษัทว่าใช้ได้จริงหรือไม่ ซึ่งในระยะแรกจะเน้นการพัฒนาตามเขตแนวชายแดน โดยเฉพาะในส่วนของผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร ทั้งนี้เมื่อเปิดประชาคมอาเซียนจะทำให้การเคลื่อนย้ายสินค้าและกำลังคนเป็นไปได้อย่างเสรี ซึ่งเรื่องนี้ไทยได้มีการติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านในหลายอุตสาหกรรมเพื่อที่จะวางแผนบริหารการทำงานร่วมกันตามแนวชายแดน

รมช.คมนาคม กล่าวว่า จะมีการพัฒนาเขตเศรษฐกิจในพื้นที่ตอนใน ซึ่งทางสภาพัฒน์ฯได้มีการประเมินกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการในพื้นที่ดังกล่าวใน 9 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มที่ต้องใช้เทคโนโลยี เช่น ด้านยานยนต์หรืออิเล็กทรอนิกส์ 2. กลุ่มนวัตกรรม 3. กลุ่มท่องเที่ยว 4.กลุ่มด้านเกษตรและอาหาร 5.กลุ่มผู้ประกอบการด้านยาง 6. กลุ่มนิคมอากาศยาน 7. กลุ่มดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 8.ด้านภาคบริการการศึกษานานาชาติ และ 9.กลุ่มศูนย์กลางด้านสุขภาพ เช่น ด้านการรักษาพยาบาลโดยทั่วไป การให้บริการส่งเสริมด้านสุขภาพและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพ

รมช.คมนาคม กล่าวว่า พื้นที่ที่มีศักยภาพสูงที่จะดำเนินการได้ คือ พื้นที่ในจังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยองจะเป็นสองพื้นที่หลัก นอกนั้นจะมีพื้นที่อื่นๆ เช่น ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และนครราชสีมา

ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เปิดเผยว่า ในเรื่องการสนับสนุนการลงทุนทุกจังหวัด และเขตเศรษฐกิจพิเศษ ขั้นต้นมีทั้งหมด 6 พื้นที่ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถมาติดต่อที่ศูนย์ดำรงธรรมได้ เมื่อศูนย์ดำรงธรรมรับเรื่องไว้แล้วจะประสานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใดก็ตามภายใน 7 วันจะมีคำตอบให้

รมว.มหาดไทย กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ที่จะใช้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษจะพิจารณาพื้นที่ของรัฐก่อน โดยดูว่าพื้นที่ใดจะให้เอกชนเข้ามาประมูลไปดำเนินการ หรือพื้นที่ใดที่จะให้การนิคมอุตสาหกรรมฯ เข้าไปดำเนินการ จะต้องพิจารณาในรายละเอียด และความเป็นไปได้ในผลความสำเร็จด้วย ส่วนพื้นที่ไหนที่มีชาวบ้านอยู่ก็ต้องเยียวยาให้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ