(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน พ.ค.หดตัว 1.27% แต่ CORE CPI โต 0.94%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 2, 2015 13:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ(CPI) เดือน พ.ค.58 อยู่ที่ 106.53 หดตัว 1.27% เมื่อเทียบกับ พ.ค.57 จากที่ตลาดคาดหดตัว 1.1% จากเดือนก่อนหน้าที่ลดลงร้อยละ 1.04 (YoY) ตามการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีก ได้แก่ แก๊สโซฮอล์ 91 95 น้ำมันดีเซล และน้ำมันเบนซิน 95 ค่ากระแสไฟฟ้า ( คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานมีมติให้ปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ลง 9.35 สตางค์/หน่วย มีผลตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2558 ) เนื้อสุกร อาหารโทรสั่ง (delivery) และอาหารประเภทผักสดและผลไม้บางชนิดที่ปรับราคาลดลง ได้แก่ เงาะ และมะนาว

อย่างไรก็ตาม CPI พ.ค.58 เพิ่มขึ้น 0.17% จากเม.ย.58 เป็นการปรับตัวสูงขึ้นตามการสูงขึ้นของราคาผลไม้สดและผักสด ที่สำคัญ ได้แก่ ทุเรียน ส้มเขียวหวาน มังคุด ต้นหอม ถั่วฝักยาว และพริกสด ไข่ไก่ ไก่สด เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ค่าเล่าเรียน - ค่าธรรมเนียมการศึกษา รวมทั้ง การปรับตัวสูงขึ้นของค่าเช่าบ้าน

ส่งผลให้ CPI 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.58) หดตัว 0.77% จากการลดลงของดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.80 ตามการลดลงของหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ร้อยละ 6.54 ขณะที่หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.75 หมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ 1.18 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 1.13 หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา สูงขึ้นร้อยละ 0.66 และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 2.19 สำหรับดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น ร้อยละ 1.19 ตามการสูงขึ้นของหมวดข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 0.47 หมวดเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 0.43 หมวดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.97 หมวดเครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 2.13 และหมวดอาหารสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 2.43 ( อาหารบริโภค-ในบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 2.11 อาหารบริโภค-นอกบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 2.97) ขณะที่หมวดไข่และผลิตภัณฑ์นม ลดลงร้อยละ 2.58 หมวดผักและผลไม้ ลดลงร้อยละ 0.14

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน พ.ค.58 อยู่ที่ 105.76 เพิ่มขึ้น 0.94% จากพ.ค.57 และเพิ่มขึ้น 0.05% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ Core CPI 5 เดือนแรก โต 1.27%

สำหรับดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มในเดือน พ.ค.58 อยู่ที่ 113.83 เพิ่มขึ้น 0.11% จาก พ.ค.57 ตามการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 0.06 หมวดเครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 0.66 หมวดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.82 และหมวดอาหารสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 1.00 ( อาหารบริโภค-ในบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 0.57 อาหารบริโภค-นอกบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 1.72 ) ขณะที่หมวดเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ ลดลงร้อยละ 1.18 หมวดไข่และผลิตภัณฑ์นม ลดลงร้อยละ 2.98 และหมวดผักและผลไม้ ลดลงร้อยละ 0.23 และเพิ่มขึ้น 0.16% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ตามการสูงขึ้นของราคาผลไม้สด ได้แก่ ทุเรียน เงาะส้มเขียวหวาน มังคุด ส่วนผักสดที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ต้นหอม ถั่วฝักยาว ข้าวโพดฝักอ่อน และผักกาดขาว รวมทั้ง ไข่ไก่ ไก่สด เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ( กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำอัดลม น้ำผลไม้ ) ปรับราคาสูงขึ้นเช่นกัน ขณะที่สินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ข้าวสารเจ้า ปลาและสัตว์น้ำ เครื่องประกอบอาหาร ( น้ำพริกแกง เครื่องปรุงรส กะปิ ) ผักสดและผลไม้บางชนิดมีราคาลดลง เช่น ดอกกุ้ยฉ่าย ผักคะน้า ผักชี ผักกาดหอม มะระจีน ผักบุ้ง กะหล่ำปลี มะนาว มะม่วง และแก้วมังกร

ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าที่ไม่ใช่หมวดอาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ 102.58 หดตัว 2.00% จาก พ.ค.57 แต่เพิ่มขึ้น 0.18% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกโดยเฉลี่ยภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ แก๊สโซฮอล์ 91 95 น้ำมันดีเซล และน้ำมันเบนซิน 95 นอกจากนี้ ค่าเช่าบ้าน ค่าเล่าเรียน – ค่าธรรมเนียมการศึกษา ระดับประถมศึกษา มัธยม และเทคนิคอาชีวะ ภาครัฐบาลและภาคเอกชน ปรับราคาสูงขึ้น รวมทั้ง สบู่ถูตัว มีราคาสูงขึ้นเช่นกัน ขณะที่ ค่ากระแสไฟฟ้า มีการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ลง สำหรับรอบเดือนพฤษภาคม ถึง สิงหาคม 2558 เท่ากับ 49.61 สตางค์/หน่วย ( เดิม 58.96 สตางค์/หน่วย ) ค่าทัศนาจรต่างประเทศ สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ได้แก่ น้ำยาล้างจาน และผลิตภัณฑ์ซักผ้า (น้ำยาซักแห้ง) มีราคาลดลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ