(เพิ่มเติม) ดัชนีเชื่อมั่นราคาทองมิ.ย.ทรุด รับแรงกดดันจากเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 9, 2015 13:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกมลธัญ พรไพศาลวิจิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในเดือนมิถุนายน 2558 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในเดือนมิถุนายนหดตัวลงหลังจากที่ปรับตัวขึ้น 2 เดือนติดต่อกัน โดยค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 43.11 จุด ลดลง 10.0 จุด เป็นการปรับตัวลงต่ำกว่าระดับ 50 จุด ซึ่งเป็นระดับอ้างอิง สะท้อนมุมมองเชิงลบต่อราคาทองคำในประเทศเดือนมิถุนายนแต่มองอ่อนตัวไม่มากเพราะค่าดัชนียังอยู่ใกล้ระดับ 50 จุด

ขณะที่ปัจจัยที่กลุ่มตัวอย่างคิดเห็นว่าจะมีผลเชิงลบต่อราคาทองคำ คือ การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงเน้นย้ำเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายภายในปีนี้ ส่วนปัจจัยบวกสำคัญ คือ การอ่อนตัวของค่าเงินบาทที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยังเชื่อว่ามีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง ที่น่าสนใจคือสัดส่วนผู้ตอบแบบสอบถามที่คาดว่าจะซื้อทองคำในช่วงหนึ่งเดือนข้างหน้ามีการปรับตัวลดลงอย่างมากจากประมาณร้อยละ 40 ในเดือนก่อนเหลือเพียงร้อยละ 27 ในเดือนนี้ ซึ่งอาจจะทำให้การซื้อขายทองคำในประเทศในเดือนมิถุนายนอาจจะไม่คึกคักเท่าที่ควร

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในระยะ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงเช่นกัน โดยลดลง 6.06 จุดมาอยู่ที่ระดับ 49.94 จุด สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนและผู้ค้าทองคำเริ่มกลับมาวิตกต่อประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และเริ่มไม่แน่ใจในการฟื้นตัวของราคาทองคำ แต่ยังเชื่อว่าเงินบาทจะยังอ่อนค่าและเป็นปัจจัยหนุนสำคัญ

บทสรุปความคิดเห็นผู้ค้าทองคำ (Gold Trader Consensus) จากผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่ ผู้ค้าส่งทองคำ และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำ จำนวน 9 ตัวอย่าง พบว่าผู้ค้าส่วนใหญ่เชื่อว่าราคาทองคำในประเทศเดือนมิถุนายน 2558 จะเคลื่อนไหวใกล้เคียงเดือนพฤษภาคม โดยมีผู้ค้า 2 รายมองทองคำเฉลี่ยจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 5 รายมองราคาทองเฉลี่ยจะใกล้เคียงกับเดือนพฤษภาคม และผู้ค้า 2 รายเชื่อว่าราคาทองคำเฉลี่ยจะปรับตัวลดลงในเดือนมิถุนายน

โดยผู้ค้ามองว่าราคาทองคำในตลาดโลกน่าจะมีกรอบราคาสูงสุดอยู่ระหว่าง 1,240-1,260 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ส่วนกรอบการเคลื่อนไหวของราคาต่ำสุดอยู่ที่ 1,140-1,160 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ สำหรับราคาทองคำแท่งในประเทศ (ความบริสุทธิ์ 95.5%) กลุ่มตัวอย่างให้น้ำหนักราคาสูงสุดที่ 19,500-20,000 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ และกรอบการเคลื่อนไหวต่ำสุดอยู่ที่ 18,000-19,000 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยทองคำยังได้จัดทำรายงานบทบาทหน้าที่ในการกำหนดราคาทองคำในประเทศ และสถิติการเปลี่ยนแปลงราคาทองคำในประเทศ พบว่าการมีราคากลางสำหรับราคาทองคำในประเทศและกำหนดมาตรฐานการซื้อขายทองคำในประเทศ ช่วยให้อุตสาหกรรมทองคำมีการค้าขายที่ง่ายขึ้น เนื่องจากการสื่อสารทำได้ง่ายและผู้ค้ามีราคาอ้างอิงที่ใช้กำหนดราคา

ขณะที่การปรับเปลี่ยนราคาทองคำในช่วงระหว่างปี 2549-2558 มีจำนวนการปรับเปลี่ยนราคาเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกและค่าเงินบาทมีความผันผวนมากขึ้น โดยปี 2554 เป็นปีที่มีการปรับเปลี่ยนราคาเฉลี่ยต่อวันสูงสุดที่ 3.463 ครั้งต่อวัน จากช่วงปี 2549 ที่ประมาณ 1.490 ครั้งต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 เท่าตัว ขณะที่ช่วงเวลาเดียวกันพบว่าเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน เป็นช่วงที่ราคาทองคำมีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด

นายกมลธัญ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (10 มิ.ย.) น่าจะไม่มีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก แต่หากมีการปรับลดในรอบนี้จะส่งผลให้เงินบาทปรับตัวอ่อนค่า โดยคาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่แถว 34.50 บาท/ดอลลาร์ และราคาทองน่าจะปรับตัวขึ้นอีกครั้ง หรือมาอยู่ที่ 20,000-20,500 บาทต่อบาททองคำ บนสมมติฐานกรอบราคาทองคำในตลาดโลก 1,240 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์

ด้านนายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ กล่าวว่า สมาคมฯ จะเข้าหารือกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายใน 1-2 เดือนนี้ เกี่ยวกับการจัดตั้งตลาดกลางในการซื้อขายทองคำ(Gold Exchange) เพื่อขอความชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง หลังจากในช่วงกลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการหารือกันแต่ยังไม่ได้ข้อสรุปใดๆ ออกมา

ขณะที่ล่าสุดได้รับการยืนยันจากนางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะยุติการจัดตั้ง Gold Exchange เนื่องจากอาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในระยะยาว และแบกรับต้นทุนที่สูงเกินไป โดยทางตลาดหลักทรัพย์ฯ มีความเห็นว่าอาจจะมีการนำสินค้าโกลด์ฟิวเจอร์ตัวใหม่ที่มีอายุการซื้อขายมากกว่า 3 เดือน เข้ามาซื้อขายเป็นสินค้าอีกตัวหนึ่งในตลาด TFEX

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของราคาทองคำในช่วงครึ่งปีหลังนี้ น่าจะอยู่ในกรอบ 1,100-1,300 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ หรือคิดเป็นราคาทองคำ 17,500-21,000 บาทต่อบาททองคำ โดยมองว่ากลุ่มสถาบันจะเข้าเก็งกำไรมากขึ้นเกี่ยวกับปัจจัยที่ยังไม่คลี่คลาย เช่น วิกฤตหนี้สินกรีซที่ยังมีผลกระทบในระยะสั้น เนื่องจากกรีซมีหนี้สินที่ต้องชำระอยู่จำนวนมาก ถ้าไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากกลุ่มทรอยก้าก็มีความเป็นไปได้ว่ากรีซไม่มีเงินพอเพียงต่อการชำระเงินคืนและจะกลายเป็นปัญหาในวงกว้างต่อการปรับตัวของตลาดทุน และอัตราแลกเปลี่ยน ประกอบกับปัจจัยที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ