ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดยอดขายรถยนต์ในปท.ปีนี้หดตัว 2-7% หลายปัจจัยกดดัน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 15, 2015 17:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตลาดรถยนต์ในประเทศปี 58 จะยังมีโอกาสทรงตัวจนถึงหดตัวต่อเนื่องจากปี 2557 ได้จากปัจจัยลบสำคัญหลายประการที่ดำเนินต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว และยังคงส่งผลกดดันตลาดในปีนี้ เช่น ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังสะสม ราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะ ข้าวและยางพาราที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง การปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวด โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์นั่งขนาดเล็ก และรถปิกอัพ อันสืบเนื่องจากความไม่มั่นใจในความสามารถชำระหนี้ของผู้ซื้อ หลังจากช่วงที่ผ่านมามีหนี้เสียเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศที่ยังน่ากังวล อาจทำให้การส่งออกฟื้นตัวได้อย่างยากลำบากมากขึ้น ขณะที่ทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศก็เป็นไปอย่างล่าช้า จากการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนที่ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก รวมถึงจะมีรถมือสองใหม่ๆที่หลุดไฟแนนซ์เข้ามาแข่งขันในตลาดอีกจำนวนมาก โดยจากการคาดการณ์ของสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้วพบว่า ในปีนี้ภาพรวมธุรกิจรถมือสองน่าจะเติบโตประมาณร้อยละ 10 ซึ่งปัจจัยลบเหล่านี้คาดว่าจะส่งผลกดดันอย่างมากต่อเส้นทางการฟื้นตัวของตลาดรถยนต์ในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งแรก

ทั้งนี้ จากตัวเลขยอดขายรายเดือนที่ออกมาล่าสุดในเดือนเมษายน 2558 พบว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 54,058 คัน หดตัวกว่าร้อยละ 26.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว และเป็นยอดขายที่ต่ำที่สุดในรอบกว่า 40 เดือน โดยลงไปแตะระดับใกล้เคียงกับช่วงหลังวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ของไทยในปี 2554 ใหม่ๆ และยังเป็นยอดขายรถยนต์เฉพาะเดือนเมษายนที่ต่ำที่สุดในรอบ 6 ปีด้วย แสดงให้เห็นถึงภาวะตลาดรถยนต์ในประเทศที่ยังคงซบเซาอยู่ แม้ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่มีการจัดงานมอเตอร์โชว์เป็นประจำทุกปี จะดูเหมือนมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นก็ตาม อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พบ คือ ตลาดไม่ได้ส่งสัญญาณการฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติอย่างต่อเนื่อง โดยบรรยากาศการซื้อขายรถยนต์กลับสะดุดลงหลังจบงานมอเตอร์โชว์แล้ว ทำให้อาจจะต้องยอมรับว่า การจัดโปรโมชั่นกระตุ้นตลาดอย่างต่อเนื่องยังเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นสำหรับสภาพตลาดรถยนต์ในปัจจุบันอยู่

ส่วนในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 คาดว่าตลาดจะยังถูกกดดันจากปัจจัยลบต่างๆ ข้างต้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามปัจจัยบวกหลายด้านที่เข้ามาสนับสนุนมากขึ้น น่าจะส่งผลให้มีโอกาสที่ยอดขายรถยนต์ในช่วงครึ่งหลังอาจจะพลิกกลับมาทรงตัว หรือขยายตัวเป็นบวกได้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า หลังจากที่ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ตลาดรถยนต์อาจจะต้องเผชิญกับการหดตัวที่มากกว่าร้อยละ 10 โดยปัจจัยบวกที่คาดว่าจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในช่วงครึ่งหลัง ได้แก่ การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่สำหรับรถยนต์ ที่จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 ซึ่งคาดว่าอาจมีผลทำให้ราคารถยนต์บางรุ่นปรับเพิ่มขึ้นในปีหน้า และค่ายรถน่าจะนำประเด็นดังกล่าวมาใช้กระตุ้นตลาดในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยเฉพาะหลังการนำ “อีโค สติ๊กเกอร์” มาใช้ ในช่วงไตรมาสสุดท้าย,

การเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดในปีนี้ ควบคู่ไปกับกิจกรรมส่งเสริมการตลาด โดยเฉพาะในเรื่องโปรโมชั่นพิเศษประเภทส่วนลด เงินดาวน์ และดอกเบี้ย ที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง, การเปิดเสรีการค้าภายใต้กรอบ AEC ที่จะทำให้ทิศทางการค้าและการท่องเที่ยวบริเวณชายแดนรวมถึงการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งก็น่าจะส่งผลดีโดยเฉพาะต่อตลาดรถบรรทุก และรถตู้ อื่นๆ เช่น ระดับราคาน้ำมันที่ลดลงจากปีก่อน รวมถึงการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจในปีนี้ ซึ่งนับเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีเครดิตสำหรับกลุ่มสินค้ารถยนต์ ก็น่าจะส่งผลบวกต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคและการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินให้กับผู้บริโภคบางกลุ่ม จากสภาพแวดล้อมในตลาดลักษณะที่มีความเสี่ยงสูง

"แม้จะมีปัจจัยบวกเข้ามาสนับสนุนอยู่บ้างดังกล่าว ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมองว่าโอกาสในการฟื้นตัวของตลาดรถยนต์ในประเทศปี 2558 นี้ น่าจะยังดำเนินไปอย่างยากลำบากอยู่ และได้เพิ่มมุมมองที่ระมัดระวังยิ่งขึ้นต่อทิศทางตลาดในปีนี้ด้วย โดยคาดว่ามีโอกาสที่ยอดขายรถยนต์ในประเทศอาจอยู่ที่ระหว่างหดตัวร้อยละ 2 ถึง 7 หรือคิดเป็นยอดขายรถยนต์ 820,000 ถึง 860,000 คัน" ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ

ในส่วนของตลาดรถยนต์นั่งในประเทศนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า รถยนต์อีโคคาร์ อาจเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งจากข้อมูลยอดขายรถยนต์อีโคคาร์ล่าสุดในช่วง 4 เดือนแรกของปี พบว่า มีจำนวนประมาณ 31,600 คัน หดตัวในระดับสูงที่กว่าร้อยละ 25.9 (YoY) และค่าเฉลี่ยยอดขายรายเดือนที่ประมาณ 7,900 คัน ก็เป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยยอดขายรถยนต์อีโคคาร์ตลอดทั้งปี 2557 ที่อยู่ที่ประมาณ 9,900 คัน อยู่ถึงกว่าร้อยละ 20 แสดงให้เห็นถึงทิศทางที่ยังชะลอตัวของตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็กอย่างชัดเจน ซึ่งปัจจัยลบสำคัญที่จะมีผลกระทบต่อตลาด คือ อุปสงค์ที่ถูกดึงไปใช้ล่วงหน้าจากโครงการรถยนต์คันแรก ซึ่งมีข้อผูกมัดสำคัญ คือ การที่ต้องถือครองรถยนต์ต่อเนื่องนาน 5 ปี ยังมีประเด็นเรื่องความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน และการมีจำนวนรถยนต์นั่งขนาดเล็กมือสองใหม่ๆ ที่หลุดไฟแนนซ์เข้ามาแข่งขันในตลาดรถมือหนึ่งมากขึ้น เป็นปัจจัยกดดันสำคัญ

นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ช่วงต้นปีหน้าที่เริ่มมีหลายฝ่ายออกมากล่าวถึงโอกาสที่ราคารถยนต์บางรุ่นจะมีการปรับเพิ่มสูงขึ้นนั้น ก็ยังไม่เอื้อประโยชน์ต่อตลาดรถยนต์อีโคคาร์ เนื่องจากหากพิจารณาโครงสร้างภาษีแล้ว ก็เป็นรถยนต์ประเภทเดียวที่นอกจากจะไม่ได้รับผลกระทบแล้ว ยังน่าจะได้ประโยชน์จากการที่อัตราภาษีลดลงอีกด้วย ซึ่งหากค่ายรถไม่กำหนดราคาให้ถูกลงก็อาจใช้วิธีการเพิ่มฟังก์ชั่นหรืออุปกรณ์เสริมต่างๆ ให้กับลูกค้ามากขึ้น ซึ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ให้กับลูกค้ามากขึ้น ทำให้หากไม่มีการใช้โปรโมชั่นส่งเสริมการตลาดต่างๆ ที่ดึงดูดพอมาช่วยกระตุ้น คาดว่ามีโอกาสที่ผู้บริโภคที่จะซื้อรถยนต์อีโคคาร์บางส่วนอาจชะลอการซื้อไปจนถึงช่วงต้นปีหน้า ส่วนแรงหนุนตลาดรถยนต์อีโคคาร์ในประเทศปีนี้อาจจะเป็นในส่วนของรถยนต์อีโคคาร์เฟส 2 ตัวใหม่ ที่มีมาตรฐานสูงขึ้นและวางตลาดไว้ที่ระดับเดียวกับรถยนต์นั่งซับคอมแพ็ค ซึ่งแรงส่งจากการเข้ามาสู่ตลาดใหม่ และการวางระดับราคาจับกลุ่มลูกค้ามีกำลังซื้ออาจช่วยกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อสูงในช่วงแรก แต่อาจจะต้องรอติดตามจนช่วงครึ่งหลังไปแล้ว เพราะความต้องการซื้อดังกล่าวอาจชะลอลงเพื่อรอรับประโยชน์จากอัตราภาษีสรรพสามิตที่ต่ำลงจากร้อยละ 17 ในปีนี้ ไปอยู่ที่ร้อยละ 12 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559

สำหรับทิศทางตลาดรถยนต์หลังจากมีการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่แล้วคาดว่าอาจมีผลต่อการปรับโครงสร้างรถยนต์บางส่วน โดยผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะซื้อรถยนต์ที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การใช้งานจริงมากขึ้น โดยรถยนต์นั่งขนาดเล็ก เช่น อีโคคาร์ อาจจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากขึ้น รวมไปถึงรถยนต์นั่งอเนกประสงค์ กลุ่ม MPV B-SUV และ SUV เพื่อการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น แทนการใช้รถ PPV ซึ่งจะมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ให้เหลือเพียงผู้ซื้อที่มีความจำเป็นและชื่นชอบการใช้งานที่สมบุกสมบันของรถยนต์ประเภทดังกล่าว

นอกจากนี้ ค่ายรถยนต์มีโอกาสที่จะปรับรุ่นรถยนต์นั่งของตนให้สามารถใช้พลังงานทางเลือก เช่น อี 85 มากขึ้น เพื่อลดอัตราภาษีสรรพสามิตลงถึงร้อยละ 5 ขณะที่รถยนต์ไฮบริดอาจมีการดูแลในเรื่องการปล่อยไอเสียมากขึ้น เพื่อไม่ให้กระทบกับราคารถยนต์ ซึ่งจะยิ่งทำให้การแข่งขันในตลาดยากยิ่งขึ้น ขณะที่รถยนต์นั่งไฟฟ้าซึ่งดูแล้วได้ประโยชน์จากโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่มากที่สุดในบรรดารถยนต์นั่งด้วยกัน ทางภาครัฐควรต้องมีมาตรการส่งเสริมทั้งในด้านการลงทุนผลิตรถยนต์และการลงทุนเรื่องสถานีบริการชาร์จไฟฟ้าให้ครอบคลุมพื้นที่ในวงกว้างและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจรับเปลี่ยนแบตเตอรี่ ให้มีความรู้และความพร้อมด้านเทคโนโลยี เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เป็นต้น ซึ่งการร่วมมือกันของภาครัฐ ภาคเอกชน และการผลิตบุคลากรรองรับให้เหมาะสมนั้น ย่อมจะช่วยผลักดันให้รถไฟฟ้า ก้าวขึ้นมาเป็นโปรดักส์แชมเปี้ยนตัวใหม่ของไทยได้

อย่างไรก็ตาม คู่แข่งที่สำคัญของไทยในอุตสาหกรรมการผลิตรถไฟฟ้า ณ ปัจจุบัน คือ มาเลเซีย ซึ่งมีการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าเช่นเดียวกัน และขนาดตลาดรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้า เช่น ไฮบริด ก็มีขนาดใหญ่กว่าไทยอยู่ ณ ซึ่งก็เป็นโจทย์ที่ทางภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยจะต้องสร้างแรงดึงดูดต่างๆเพื่อให้นักลงทุนสนใจต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ