"ประจิน"ลั่นตอกเสาเข็มเมกะโปรเจ็คต์ 3 ล้านลบ.ปี 59 เดินหน้าเต็มที่ปี 60-61

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 17, 2015 13:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม ประกาศปี 59 ลงเสาเข็มโครงการเมกะโปรเจ็กค์กว่า 3 ล้านล้านบาทเริ่มเดินหน้า หลังยอมรับปีนี้แต่ละโครงการพลาดเป้า โดยเร่งเดินหน้าภายในไตรมาส 3 ปีงบประมาณ 58 (เม.ย.-มิ.ย.58) โครงการแรกๆที่จะเดินหน้า ได้แก่ รถไฟทางคู่ 2-3 เส้นทาง โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม สายสีเหลือง และสายสีชมพู

ขณะที่จะเห็นความชัดเจนโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ที่รัฐบาลญี่ปุ่นร่วมลงทุนภายในปีนี้ ส่วนรถไฟขนาดรางมาตรฐานเส้นกรุงเทพฯ-โคราช-แก่งคอย-มาบตาพุด และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ ที่รัฐบาลจีนให้ความร่วมมือนั้น มั่นใจจะเริ่มก่อสร้างในปลายปี 58

ด้านโครงการรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง และ กรุงเทพฯ-หัวหิน เตรียมเปิดประมูลในก.ย.58 เปิดให้เอกชนไทยเข้าร่วม ซึ่งขณะนี้มีหลายรายให้ความสนใจ พร้อมทั้งสั่งให้ 5 จังหวัดหัวเมืองใหญ่จัดการระบบขนส่งสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรทั้งเชียงใหม่ ภูเก็ต นครราชสีมา ขอนแก่น และพิษณุโลก โดยอาจเป็นระบบรถไฟฟ้าหรือรถราง

อีกทั้งงานพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟส 2 เร่งรัดได้ข้อสรุปแล้วว่าจะดำเนินการทั้งก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ระยะทาง 3.7 กิโลเมตร พร้อมกับอาคารผู้โดยสารเฟส 2 ไปด้วย และยังรวมงานพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ที่จะเป็นสนามบินพาณิชย์แห่งที่ 3

"ต้นปี 59 จะเห็นเริ่มการลงมือก่อสร้างโครงการต่างๆ แต่ยังไม่เห็นผลสัมฤทธิ์หรือเป็นรูปธรรมทั้งหมด จะเริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างได้ในปลายปี 60 หรือต้นปี 61 จะทยอยเห็นโครงการเสร็จไปเรื่อยๆ"พอ.อ.อ.ประจิน ให้สัมภาษณ์กับ"อินโฟเควสท์"

*ปรับแผนงานตามยุทธศาสตร์ 8 ปีสอดคล้องงบฯต้นเหตุล่าช้า,เข้าสู่ช่วงเร่งรัด

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า นับตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งรมว.คมนาคม เมื่อวันที่ 11 ก.ย.57 หรือประมาณ 6-7 เดือนที่ผ่านมา งานส่วนใหญ่เป็นการแก้ปัญหามากกว่าจะมีโอกาสเดินหน้างานตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งระยะเวลา 8 ปี(ปี 58-65)ตามที่กำหนดแผนแม่บทและวางกรอบเวลาการทำงานไว้อย่างชัดเจน

ยกตัวอย่างการแก้ปัญหาโครงการจัดหารถเมล์เอ็นจีวีขององค์การขนส่งมวลนกรุงเทพ(ขสมก.)จำนวน 489 คัน จากเดิมก่อนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)จะเข้ามาก็มีการปรับทีโออาร์มา 11 ฉบับแล้ว และปัจจุบันก็ปรับเป็นฉบับที่ 13 กว่าจะสามารถเปิดประมูลสำเร็จ

ประกอบกับ การกำหนดแผนงานจำเป็นต้องให้สอดคล้องกับงบประมาณ ทำให้ต้องมาปรับปรุงแผนกันใหม่ ส่งผลให้การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานต้องถูกเลื่อนออกมาอย่างต่อเนื่อง จากเบื้องต้นวางเป้าหมายภายในไตรมาส 1 ของปีงบประมาณ 58(ต.ค.-ธ.ค.57)ก็เลื่อนมาในไตรมาส 2 ช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.58 แต่ก็ไม่สำเร็จ ล่าสุดเลื่อนแผนงานมาในไตรมาส 3 ช่วงเดือน เม.ย.- มิ.ย.58)

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ต้องการให้โครงการไปกระจุกตัวในไตรมาส 4 ช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.58 จึงต้องปรับแผนให้มาอยู่ในไตรมาส 3 ให้ได้มากขึ้น หรือภายในเดือน มิ.ย.นี้ โดยงานที่ปรับแผน ได้แก่ การเปิดประมูลโครงการรถไฟทางคู่ อย่างน้อย 2-3 เส้นทางให้ได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้ จากทั้งหมด 6 เส้นทาง ซึ่งขณะนี้เส้นทาง ชุมทางจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 187 กม. วงเงินโครงการ 2.6 หมื่นล้านบาทได้ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)แล้ว

กระทรวงคมนาคมยังอยู่ระหว่างเร่งรัดจัดหาผู้เดินรถรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงเตาปูน-ท่าพระ รวมทั้งรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และการเร่งเจรจาระหว่างผู้รับเหมาญี่ปุ่นกับการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ในโครงการรถไฟสายสีแดง ช่วงรังสิต-บางซื่อ สัญญาที่ 3 ให้ยุติโดยเร็ว

ขณะที่โครงข่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ช่วงนี้ที่เหลือปีนี้ กระทรวงคมนาคมจะเสนอ ครม.อนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มก่อน จากนั้นในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.58 จะเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง, โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี เข้า ครม.คาดว่าทั้ง 3 โครงการจะเปิดประมูลได้ภายในปลายปีนี้

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวถึงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟส 2 ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เห็นพ้องกันที่จะเดินหน้าก่อสร้างทางวิ่งหรือรันเวย์สำรองแล้ว จากที่เคยคาดว่าจะชะลอออกไป 2 ปี เนื่องจากเห็นว่าขณะนี้มีความจำเป็นต้องมีรันเวย์สำรองเพื่อรองรับสถานการณ์เมื่อรันเวย์ที่ 1 และ 2 ต้องปิดซ่อมบำรุง เพราะใกล้ครบ 10 ปีตามกำหนดแล้ว โดยจะรายงานความคืบหน้าให้ ครม.รับทราบเพื่อให้บมจ.ท่าอากาศยานไทย(AOT)ดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ รันเวย์สำรองจะมีความยาว 3.7 กม.ปรับจากขนาดเดิม 2.9 กม.ใช้งบลงทุนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยจะต้องเริ่มกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม(EHIA)ร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งจะดำเนินโครงการไปพร้อมกับการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 วงเงินลงทุนประมาณ 6.1 หมื่นล้านบาท ทั้งสองส่วนนี้จะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 59

*ความร่วมมือรถไฟไทย-จีนเดินหน้าเร็วปักหมุดสร้างปีนี้,รถไฟไทย-ญี่ปุ่นกลางปี 59

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ส่วนสิ่งที่เกิดขึ้นและเร็วผิดคาด คือความร่วมมือกับรัฐบาลจีนในโครงการระบบราง จากเบื้องต้นที่เคยคาดว่าการทำโครงการใหญ่คงต้องใช้เวลา 4-5 ปี แต่กลับได้รับการตอบรับจากทางการจีนหลังจากที่รัฐบาลใหม่เข้ามาไม่นาน และมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลจีนว่าด้วยโครงการความร่วมมือของรัฐบาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค.57

อนึ่ง รัฐบาลจีนเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการตามกรอบยุทธศาตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย ระยะเวลา 8 ปีในโครงการรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ โดยเป็นความร่วมมือในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล(G to G)

"มีความมั่นใจในการสำรวจออกแบบในปี 58 จะเสร็จหมด และสามารถเริ่มก่อสร้างในส่วนที่ 1 ได้ในปลายปี 58 ที่เหลือทยอยก่อสร้างในปี 59"รมว.คมนาคม กล่าว

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า โครงการนี้จะประเมินวงเงินลงทุนทั้งหมดได้ราวเดือน ก.ย.58 หลังจากทำการสำรวจเสร็จสิ้น จากนั้นจะนำเสนอเข้า ครม.และกฤษฎีกาในช่วงต้นเดือน ต.ค.นี้ ในเวลาเดียวกันก็เตรียมร่างสัญญาควบคู่กันไปด้วย เมื่อทุกอย่างพร้อมก็จะลงนามสัญญาร่วมกัน คาดว่าราวกลางเดือน ต.ค.58 และเริ่มก่อสร้าง ซึ่งฝ่ายไทยจะเป็นดำเนินการหลักในด้านงานโยธา

สำหรับความร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่นในโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่นั้น เป็นการสานต่อจากการหารือกันมานานตั้งแต่ปี 55 ช่วงรัฐบาลชุดก่อนๆ จนถึงมีการตั้งคณะทำงานระดับปลัดกระทรวง และเมื่อวันที่ 27 พ.ค.58 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ(MOC)ด้านระบบรางระหว่างกระทรวงคมนาคมของไทยและกระทรวงคมนาคมที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น

ภายในเดือน มิ.ย.นี้จะจัดตั้งคณะทำงานและวางกรอบการทำงานร่วมกัน จากนั้นจะใช้เวลา 10 เดือนสำรวจและออกแบบหรือภายในเดือน เม.ย.59 และอีก 2-3 เดือนดำเนินด้านธุรการ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในช่วงปลายเดือน มิ.ย.-ก.ค.59 โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี

แหล่งเงินสนับสนุนของทางญี่ปุ่นมาจาก 3 แหล่ง ได้แก่ ธนาคารเพี่อความร่วมมือแห่งประเทศญี่ปุ่น(JBIC), องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น(Japan International Cooperation Agency-JICA) และ กองทุนโครงสร้างพื้นฐานพัฒนาระบบการขนส่งของประเทศญี่ปุ่น(Japan Overseas Infrastructure Investment Corporation For Transport and Urban Development-JOIN)

"แหล่งเงินเหล่านี้มีอัตราดอกเบี้ยถูกกว่า แต่เงินลงทุนโครงการของญี่ปุ่นสูงกว่าจีน ดังนั้นกระทรวงจะนำมาพิจารณาด้วย ไม่ใช่มองแค่ดอกเบี้ยถูก"พล.อ.อ.ประจิน กล่าว

ขณะที่เส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจภาคกลางตอนล่าง ช่วงกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง และกรุงเทพ-อรัญประเทศนั้น รมว.คมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน โดยเฉพาะการกำหนดไว้ยุทธศาสตร์ว่าจะเป็นขนาดราง 1 เมตร หรือขนาดรางมาตรฐาน หากใช้ขนาดราง 1 เมตรจะดำเนินการได้เร็ว เพียงเติมเต็มเส้นทางขาดหาย หรือ missing link และเปลี่ยนระบบอาณัติสัญญาณ เป็นระบบดิจิตอลแทน แต่ถ้าเป็นขนาดรางมาตรฐาน คาดว่าจะใช้เวลาสำรวจประมาณ 6 เดือน

ส่วนเส้นทางอื่น ได้แก่ เส้นทางแม่สอด-มุกดาหาร เป็นต้น จะเป็นการร่วมศึกษาความเป็นไปได้และร่วมสำรวจเท่านั้น

รมว.คมนาคม กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงในเส้นท่องเที่ยวขณะนี้มี 2 เส้นทางที่เตรียมจะเสนอ ครม.ในเดือน มิ.ย.นี้ ขณะนี้แผนงานคืบหน้าไป 70% คือ กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง ระยะทาง 211 กม.วงเงินลงทุน 8.1 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณา EIA ซึ่งมีการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานหลักดำเนินการ และอีกเส้นทางคือ กรุงเทพ-หัวหิน ระยะทาง 129.1 กม. วงเงิน 1.1 แสนล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณา EIA เช่นกัน โดยกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ดำเนินการหลักผ่านสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)

ทั้งสองเส้นทางดังกล่าว คาดว่าภายในดือน ก.ย.นี้น่าจะเปิดประมูลได้ โดยที่ผ่านมามีเอกชนหลายรายให้ความสนใจ อาทิ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นต้น และมีแนวโน้มจะร่วมมือกันในรูปแบบคอร์ซอเทียมเพื่อเข้ายื่นประมูลโครงการ

*เร่งภูเก็ต-เชียงใหม่-โคราช-ขอนแก่น-พิษณุโลกทำรถไฟฟ้า-รถรางแก้จราจร

พล.อ.อ.ประจิน ยังเปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมยังได้มองการแก้ไขปัญหาจราจรในเมืองใหญ่ โดยปีนี้เร่งให้ 5 จังหวัดดำเนินการ ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น และพิษณุโลก โดยมอบหมายให้ สนข.ศึกษาร่วมกับส่วนราชการในพื้นที่

ในส่วนของภูเก็ต ทำการสำรวจแล้วและคาดว่าจะทำโครงการรถไฟรางเบา ส่วนเชียงใหม่ ทำแผนแก้ปัญหาโดย สนข.เป็นผู้ให้คำแนะนำ ซึ่งแจ้งมาว่าใกล้จะแล้วเสร็จ โดยทางกระทรวงไม่ได้จำกัดรูปแบบโครงการว่าจะต้องเป็นรถไฟฟ้า แต่อาจจะทำเป็นรถบัสล้อยางวิ่งบนรางก็ได้ เพราะต้องการให้ทางท้องถิ่นเป็นผู้คิดแก้ปัญหาก่อน เพราะขณะนี้ภูเก็ตและเชียงใหม่เกิดปัญหาจราจรค่อนข้างมากแล้ว ทั้งนี้ หากเห็นชอบตรงกับกระทรวงคมนาคม ก็จะนำเสนอต่อ ครม.เพื่ออนุมัติต่อไป

"ถ้าเรามีโครงสร้างพื้นฐานดีจะทำให้ประชาชนมีทางเลือกการเดินทาง ประชาชนได้รับความสะดวกสบาย ...เปลี่ยนคุณภาพชีวิตในการเดินทางดีขึ้น ลดความเสี่ยงแออัดอยู่บนถนน มีทางเลือกการเดินทางมากขึ้น ความเครียดน้อยลง อุบัติเหตุน้อยลง ในด้านความมั่นคงกับชีวิตและทรัพย์สินดีขึ้น ไปถึงเศรษฐกิจ คนมั่นใจก็กล้ามาลงทุน ชุมชนก็มั่นใจ ก็เกิดการพัฒนาเมือง ถ้าเราทำดี ลดพลังงาน ดูแลสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม เศรษฐิจ ท่องเที่ยว ความมั่นคงประเทศ และการเชื่อมต่ออาเซียน ทุกอย่างเกิดเป็นผลประโยชน์ คนจะมีความสุขแน่นอน คนจะต้องมีทางเลือกมากขึ้น ให้เหมาะกับสถานะของตัวเอง"พล.อ.อ.ประจิน กล่าวในที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ