ส.อ.ท.เผยนิด้าโพลเผยผู้ประกอบการค้านขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอ้างกระทบราคาสินค้า

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 23, 2015 12:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เผยผลสุ่มสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการทั่วประเทศด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมจำนวน 1,303 ตัวอย่างของนิด้าโพลเรื่อง"แนวทางการกำหนดอัตราค่าจ้างปี 2559" โดยพบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 21.82% ระบุว่า รัฐบาลไม่ควรปรับขึ้นค่าแรงในขณะนี้ ควรชะลอไว้ก่อน เพราะถ้าปรับขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค แต่รัฐบาลควรหันมาแก้ไขปัญหาค่าครองชีพแทน

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่ให้ความเห็น 18.18% ระบุว่า ควรปรับค่าแรงตามทักษะฝีมือแรงงาน ประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ คุณวุฒิ และกลุ่มบุคคล (แรงงานคนไทย, แรงงานต่างด้าว), 15.45% ระบุว่า ควรกำหนดตามพื้นที่/เขต/จังหวัด/ภูมิภาค, 13.64% ระบุว่า รัฐบาลควรสำรวจความเห็นผู้ประกอบการก่อนปรับค่าแรง และควรคำนึงถึงเศรษฐกิจโดยรวม ให้สามารถอยู่ได้ทั้งผู้ประกอบการและลูกจ้าง และควรแจ้งข้อมูลให้ผู้ประกอบการรับทราบอย่างทั่วถึง และควรมีมาตรการรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นภายหลังจากการปรับค่าแรง

นอกจากนั้น 12.73% ระบุว่า ควรปรับตามค่าครองชีพและภาวะเศรษฐกิจของประเทศ, 5.45% ระบุว่า ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกลตลาด/ลอยตัว, 4.55% ระบุว่า ควรปรับเป็นแบบขั้นบันได และอยู่ในกรอบไม่เกิน 300 บาท/วัน, 4.55% ระบุว่า รัฐบาลไม่ควรกำหนดค่าแรง ควรให้หน่วยงานหรือองค์กรเป็นผู้กำหนดเองตามโครงสร้างองค์กร/อุตสาหกรรม เพราะในแต่ละอุตสาหกรรม มีรูปแบบของกิจการและการบริหารที่แตกต่างกันออกไป และ 3.64% ระบุว่า แรงงานต้องหมั่นพัฒนาฝีมือทักษะด้านแรงงานด้วย และสามารถเข้าถึงแหล่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานได้อย่างทั่วถึง โดยรัฐบาลควรส่งเสริมการลงทุนให้กับแรงงานเพื่อเพิ่มรายได้ให้เพียงพอกับค่าครองชีพด้วย

นิดาโพล ยังระบุว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 61.32% ระบุได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 300 บาท/วันช่วงที่ผ่านมา ในจำนวนนี้ 33.30% ระบุว่าทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น รองลงมา 16.96% ระบุว่า ส่งผลต่อการบริหารค่าจ้าง และส่งผลต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้นในสัดส่วนที่เท่ากัน, 12.17% ระบุว่า ต้องกำหนดราคาสินค้าสูงขึ้น, 6.48% ระบุว่า ขาดสภาพคล่อง, 5.31% ระบุว่า การเพิ่มผลิตภาพแรงงานทำได้ยาก, 4.84% ระบุว่า คำสั่งซื้อสินค้าลดลง, 2.54% ระบุว่า ขีดความสามารถในการแข่งขัน/การส่งออกด้อยลง และ 1.46% ระบุว่า ต้องย้ายฐานการผลิต ขณะที่มีผู้ประกอบการ 38.68% ระบุว่า ไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

สำหรับต้นทุนแรงงานที่มีผลต่อต้นทุนของการผลิตหรือบริการโดยประมาณ หลังจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 300 บาท/วัน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 66.69% ระบุว่า มีต้นทุนเพิ่มขึ้น รองลงมา 30.16% ระบุว่า เท่าเดิม และ 3.15% ระบุว่าลดลง ขณะที่ประสิทธิภาพของแรงงานจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำนั้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 80.74% ระบุว่า ประสิทธิภาพของแรงงานเท่าเดิม รองลงมา 14.81% ระบุว่า เพิ่มขึ้น และ 4.45% ระบุว่า ประสิทธิภาพของแรงงานลดลง

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 36.99% ระบุว่า ควรปรับค่าจ้างตามคณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานมาตรา 87 รองลงมา 29.37% ระบุว่า ควรปรับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน, 15.47% ระบุว่า ควรปรับค่าจ้างตามกลุ่มอุตสาหกรรม, 9.59% ระบุว่า ควรปรับค่าจ้างลอยตัวตามอุปสงค์และอุปทาน และ 8.58% ระบุว่า ควรปรับค่าจ้างตามมติคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 51.04% ระบุว่า ไม่ควรปรับอัตราค่าจ้าง โดยควรให้อยู่ในอัตราเท่าเดิม รองลงมา 26.48% ระบุว่า ควรปรับลอยตัว, 14.81% ระบุว่า ควรปรับอัตราค่าจ้างเพิ่มขึ้น และ 2.07% ระบุว่า ควรปรับลดลง

ส่วนปัญหาการขาดแคลนแรงงานนั้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 59.32% ระบุว่า ไม่ประสบปัญหาดังกล่าวแล้ว ขณะที่ 40.68% ระบุว่า ประสบปัญหาดังกล่าว ในจำนวนนี้ 66.83% ระบุว่า ขาดแคลนแรงงานประเภทแรงงานมีฝีมือ และ 33.17% ระบุว่า ขาดแคลนแรงงานประเภทแรงงานไร้ฝีมือ

สำหรับค่าใช้จ่ายเงินเดือนพนักงานเมื่อเทียบกับรายจ่ายทั้งหมดของบริษัท พบว่า บริษัทมีค่าใช้จ่ายเงินเดือนพนักงาน เฉลี่ย 34.01% เมื่อเทียบกับรายจ่ายทั้งหมดของบริษัท ทั้งนี้ผู้ประกอบการ 21.49% ระบุว่า มีค่าใช้จ่ายเงินเดือนพนักงานเฉลี่ย คิดเป็น 21-40% เมื่อเทียบกับรายจ่ายทั้งหมดของบริษัท รองลงมา 13.74% ระบุว่า มีค่าใช้จ่ายเงินเดือนพนักงานเฉลี่ย คิดเป็น 1-20% และ 12.28% ระบุว่า มีค่าใช้จ่ายเงินเดือนพนักงานเฉลี่ย มากกว่า 40% ขึ้นไป และ 52.49% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

จากผลการสำรวจการจ้างแรงงานต่างด้าวเมื่อเทียบกับแรงงานทั้งหมด ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 56.79% ระบุว่า ไม่มีการจ้างแรงงานต่างด้าว, 36.00% มีการจ้างงานแรงงานต่างด้าว และ 7.21% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ