ครม.อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ล้มละลาย เพิ่มหมวดฟื้นฟูกิจการให้ SMEs

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 30, 2015 14:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....(การฟื้นฟูกิจการ) ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ต่อไป
"ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มุ่งในการฟื้นฟูกิจการให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) ช่วยให้สามารถกลับมาฟื้นฟูกิจการได้ ไม่ต้องอยู่ในสถานะล้มละลาย แต่สิ่งสำคัญคือ SMEs ต้องไปขึ้นทะเบียนกับ สสว.จึงจะใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ โดยมูลหนี้ไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท และหากเป็นบริษัทจำกัด วงเงินต้องไม่เกิน 10 ล้านบาท" พล.ต.สรรเสริญ ระบุ

โดยสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ประกอบด้วย 1. กำหนดให้เพิ่มหมวด 3/2 กระบวนการพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

2. กำหนดนิยาม "ลูกหนี้" ให้หมายความถึงลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดา คณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัด ประกอบธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

3. การขอและการให้ฟื้นฟูกิจการ กำหนดบุคคลซึ่งมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ฟื้นฟูกิจการ ได้แก่ 1) เจ้าหนี้ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการซึ่งอาจเป็นคนเดียวหรือหลายคนรวมกัน และมีจำนวนหนี้แน่นอน ไม่น้อยกว่าสามล้านบาท เว้นแต่ลูกหนี้ที่เป็นบริษัทจำกัดต้องมีจำนวนหนี้ไม่ถึงสิบล้านบาท และ 2) ลูกหนี้ไม่อยู่ในสถานะที่จะชำระหนี้ได้ และเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการ

4. คำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน กำหนดแผนฟื้นฟูให้มีรายการอย่างน้อยประกอบ ไปด้วย เหตุผลที่ทำให้มีการฟื้นฟูกิจการ รายละเอียดแห่งสินทรัพย์ หนี้สิน และภาระผูกพันต่าง ๆ ของลูกหนี้ หลักการและวิธีการฟื้นฟูกิจการ รวมถึงแนวทางแก้ปัญหาในกรณีขาดสภาพคล่องชั่วคราวระหว่างการปฏิบัติตาม แผน เป็นต้น เมื่อศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน ให้ศาลแจ้งคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบและดำเนินการโฆษณาคำสั่งฯ ในราชกิจจานุเบกษาและหนังสือพิมพ์รายวัน และแจ้งคำสั่งไปยังนายทะเบียนให้ทราบด้วย

5. การขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ กำหนดให้เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้พร้อมสำเนาต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งสำเนาคำขอรับชำระหนี้ให้ผู้บริหารกิจการโดยไม่ชักช้า และขอรับชำระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี หรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้

6. คำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ กำหนดให้ภายในเจ็ดวันนับแต่ที่ได้ทราบ คำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน ให้ลูกหนี้ยื่นคำชี้แจงฯ โดยต้องแสดงรายการ เช่น กิจการของลูกหนี้ สินทรัพย์ หนี้สิน และภาระผูกพันต่าง ๆ ที่ลูกหนี้มีต่อบุคคลภายนอก รวมถึงข้อมูลอื่นตามที่ผู้บริหารกิจการเห็นสมควรให้แจ้งเพิ่มเติม เป็นต้น

7. การเพิกถอนนิติกรรมที่ได้กระทำไปแล้ว กำหนดการเพิกถอนนิติกรรมที่ได้กระทำไปแล้ว โดยข้อสันนิษฐานการกระทำของลูกหนี้และผู้ได้ลาภงอกที่ถือว่าเป็นการกระทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ

8. การดำเนินการภายหลังศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ กำหนดให้แผนฟื้นฟูกิจการซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้ว ผูกมัดเจ้าหนี้ ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้และเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ หากมูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม

9. กำหนดให้คำสั่งศาลที่ให้ยกคำร้องขอ ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน และยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ ไม่กระทบถึงการใดที่ผู้บริหารกิจการหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กระทำไปแล้วก่อนศาล มีคำสั่งเช่นว่านั้น

10. กำหนดบทกำหนดโทษว่าด้วยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ เกี่ยวกับการกระทำของเจ้าหนี้ ลูกหนี้ ผู้ถือหุ้นของลูกหนี้ ผู้บริหารกิจการและผู้บริหารลูกหนี้ที่กระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัตินี้

"เป็นกฎหมายอีกฉบับ ที่รัฐบาลมีนโยบายช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งพ.ร.บ.มีการกำหนดรายละเอียดทุกขั้นตอน" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ