KBANK มองส่งออกกดดัน GDP ปีนี้เสี่ยงโตแค่กรอบล่าง 2.2% หนุนคงอัตราดอกเบี้ย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 15, 2015 17:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารวิจัยเศรษฐกิจ และตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย(KBANK)กล่าวในการสัมมนา"ก้าวทันความเคลื่อนไหว เศรษฐกิจโลกครึ่งหลังปี 2558 จับทิศดอกเบี้ยและค่าเงิน"ในหัวข้อ "แนวโน้มเศรษฐกิจโลกกับทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2558"ว่า แนวโน้ม GDP ของไทยในปีนี้น่าจะสามารถขยายตัวได้ในช่วง 2.8-2.2% โดยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เป็นตามคาการณ์

แต่ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจไทยก็มีความเสี่ยงที่จะเติบโตเพียง 2.2% ซึ่งเป็นกรอบล่างที่ธนาคารมองไว้ เพราะจนนถึงขณะนี้ภาครัฐฯยังเบิกจ่ายงบประมาณได้เพียงแค่ 40% เท่านั้น รวมทั้งมีการส่งออกเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่กดดันเศรษฐกิจไทย เพราะมีประเด็นเข้ามากระทบมากขึ้น โดยเฉพาะจากต่างประเทศ เช่น กรณีที่สหภาพยุโรปจะมีการตัดสินว่าจะคว่ำบาตรสินค้าประมงของไทย ซึ่งหากยังมีการทำประมงที่ผิดกฎหมายก็จะยิ่งส่งผลลบต่อภาพรวมการส่งออกหดตัวมากขึ้นกว่าที่ประเมินไว้ว่าส่งออกปีนี้จะติดลบราว 1.7%

นายกอบสิทธิ์ ประเมินว่า ค่าเงินบาทเฉลี่ยในปีนี้จะอยู่ที่ราว 34.50 บาท/ดอลลาร์ จากเดิมคาดไว้ที่ 34.25 บาท/ดอลลาร์ สะท้อนภาพการส่งออกชะลอตัว และประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงเดือน ก.ย.นี้ ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย เชื่อว่าจะยังทรงตัวอยู่ที่ระดับ 1.5% เพราะเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในภูมิภาค ขณะที่แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดอาจทำให้ค่าเงินผันผวน ดังนั้น ฝ่ายนโยบายการเงินไม่น่าจะรีบออกนโยบายเพิ่มเติมในปีนี้ เพราะจะมีผลทำให้ตลาดเงินผันผวนได้

"ดอกเบี้ยไทยมีความเหมาะสมแล้วในปัจจุบัน จึงมองว่าไม่จำเป็นที่จะต้องลดดอกเบี้ยอีก เพราะมองว่านโยบายดอกเบี้ยไม่น่าจะใช่เครื่องมือช่วยเศรษฐกิจด้านเดียว เพราะสิ่งที่มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่า คือ กระตุ้นผ่านการส่งออกถึงจะมีผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่า การกระตุ้นด้านดอกเบี้ย ที่ส่งผลบวกในด้านตลาดเงินเท่านั้น"นายกอบสิทธิ์ กล่าว

ด้านพรวลี พิลาวรรณ ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน KBANK กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจโลกว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF)ออกมาปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลงอีกครั้ง โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.3% จากประมาณการรอบก่อนที่ 3.5% และมองว่าในปี 59 น่าจะเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น คาดว่าจะขยายตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 3.8% โดย IMF กล่าวถึงความเสี่ยงหลักๆ อย่างความผันผวนเรื่องกรีซ เศรษฐกิจจีนชะลอลงมากกว่าที่คาด

ประเด็นที่สำคัญมากที่สุดในขณะนี้เป็นเรื่องความเสี่ยงจากตลาดจีนที่อาจจะถูกผลกระทบจากภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัว โดยประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบต่างๆ มาแล้วในระยะหนึ่ง โดยเฉพาะช่องทางการค้าหรือการส่งออกสินค้าไทยไปยังจีน ซึ่งมีสัดส่วนใหญ่ที่ประมาณ 11% ของมูลค่าการส่งออกรวมในรอบปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเห็นความพยายามของทางการในการช่วยหนุนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการใช้จ่ายผ่านการสร้างทางรถไฟ แต่ยังต้องใช้ระยะเวลาในการปรับภาพรวมของเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศไทยเองก็ควรมีการปรับตัวเพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ชะลอลงด้วย ประเมิณว่าในปีนี้เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวราว 6%

ส่วนความเสี่ยงระยะสั้นยังเป็นประเด็นจากสหภาพยุโรป โดยเฉพาะเรื่องกรีซ แต่หากประเมิณภาพรวมทั้งสหภาพยุโรป แนวโน้มเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น ทั้งจากภาคการผลิตและบริการ รวมถึงการเริ่มปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นไปสู่ภาคเอกชน ทั้งครัวเรือนและธุรกิจ แต่อย่างไรก็ต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจสหภาพยุโรปอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ