รัฐเดินหน้าตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ เปิดรับสมัครรายแรก 18 ส.ค.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday July 18, 2015 14:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รัฐบาลเดินหน้าตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ เพื่อดูแลคนไทยในวัยเกษียณที่ไม่อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญ 30 ล้านคน หวังสร้างนิสัยการออมทุกช่วงวัย แนะออมเร็วออมมาก ยิ่งสบายยามชรา โดยอายุ 20 ปีออมเดือนละพันเกษียณรับ 7,000 บาททุกเดือนตลอดชีพ โดยจะเปิดรับสมัครสมาชิกรายแรกในวันที่ 18 สิงหาคมนี้

พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยความคืบหน้าการจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ ( กอช.)ว่า ขณะนี้การจัดเตรียมระบบรองรับใกล้ สมบูรณ์พร้อมให้บริการแล้ว โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้รับสมัครสมาชิกรายแรกของกองทุนด้วยตัวเอง ในวันที่ 18 สิงหาคมนี้

ทั้งนี้ กองทุนการออมแห่งชาติเป็นนโยบายของรัฐบาลเพื่อส่งเสริมให้ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระหรืออยู่นอกระบบบำเหน็จบำนาญของรัฐ หรือกองทุนเอกชนที่มีนายจ้างจ่ายสมทบแล้ว ซึ่งคาดว่ามีอยู่กว่า 30 ล้านคน ได้ออมเงินเพื่อใช้ในยามเกษียณ โดยรัฐจะช่วยจ่ายสมทบให้ส่วนหนึ่ง และเมื่อผู้ออมมีอายุครบ 60 ปี ก็จะได้รับเงินบำนาญเป็นรายเดือนตลอดชีพ ถือเป็นการสร้างหลักประกันให้กับชีวิตในยามที่ไม่มีรายได้ประจำ และเป็นส่วนหนึ่งของการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

"ผู้สนใจสามารถสมัครเป็นสมาชิกกองทุนได้ที่ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่มีประมาณ 3,500 สาขาทั่วประเทศ โดยใช้หลักฐานเพียงบัตรประชาชนอย่างเดียวเท่านั้น"พลตรีสรรเสริญ กล่าว

พลตรีสรรเสริญ กล่าวว่า ผู้ที่ยิ่งออมเร็ว ออมในอัตราสูง ก็จะได้รับเงินบำนาญมากขึ้นตามสัดส่วน อาทิ ออมเดือนละ 1,000 บาท เท่ากัน หากเริ่มออมตั้งแต่ อายุ 20 ปี เมื่อเกษียณจะได้รับเงินบำนาญพร้อมเบี้ยเลี้ยงชีพ รวม 7,000 บาทเศษต่อเดือน แต่หากเริ่มออมอายุ 30 ปี จะได้เงินบำนาญ 4,441 บาทต่อเดือน ขณะที่เริ่มอายุ 40 ปี จะได้ 2,646 บาท เป็นต้น โดยผู้สนใจจะสมัครเข้าร่วมกองทุนสามารถศึกษาตารางอัตราผลตอบแทนได้ที่ธนาคารทั้ง 3 แห่ง

สำหรับผู้ที่มีระยะเวลาหรือจำนวนเงินออมน้อย เช่น อายุ 50 ปี ออมเดือนละ 500 เมื่อคำนวนแล้วจะได้เพียง 455 บาทต่อเดือน ซึ่งถือว่าต่ำกว่ากอช. จะใช้เงินกองทุนจ่ายสมทบ ให้เป็นเงินดำรงชีพเดือนละ 600 รวมกับเบี้ยยังชีพเดือนละ 600 รวมรับเดือนละ 1,200 บาท จนกว่าเงินในบัญชีจะหมด จากนั้นก็ได้รับเพียงเบี้ยยังชีพ

กลุ่มผู้ที่จะเข้าเป็นสมาชิกกอช. เปิดกว้างตั้งแต่ช่วงอายุ 15-60 ปี ครอบคลุม ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น เกษตรกร ค้าขาย รับจ้างทั่วไป คนขับรถแท็กซี่ แม่บ้าน สถาปนิก แพทย์ ทนายความ ลูกจ้างรายวัน ลูกจ้างชั่วคราว นักการเมือง (ส.ส.) นักการเมืองท้องถิ่น นักเรียน นิสิต นักศึกษา ฯลฯ โดยสมาชิกต้องไม่อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญภาครัฐหรือภาคเอกชนหรือกองทุนตามกฎหมายอื่น ซึ่งได้รับเงินสมทบจากรัฐหรือนายจ้างอยู่แล้ว โดยส่งเงินสะสมขั้นต่ำได้ตั้งแต่ 50 บาท แต่เมื่อรวมกันแล้วไม่เกิน 13,200 บาทต่อปี โดยเงินที่สะสมนี้จะได้รับดอกเบี้ยด้วย

สำหรับการสมทบจากภาครัฐจะเพิ่มตามสัดส่วนอายุ ได้แก่ สมาชิกอายุตั้งแต่ 15 ปี แต่ไม่เกิน 30 ปี รัฐสมทบร้อยละ 50 ของเงินสะสม แต่สูงสุดไม่เกิน 600 บาทต่อปี ,อายุ 30 ปี แต่ไม่เกิน 50 ปี รัฐสมทบให้ร้อยละ 80 แต่สูงสุดไม่เกิน 960 บาทต่อปี และอายุ 50 ปีขึ้นไป รัฐสมทบร้อยละ 100 แต่สูงสุดไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี

"โดยปกติ กอช.จะรับสมาชิกเฉพาะผู้มีอายุ 15-60 ปี และให้ออมเงินจนอายุ 60 แต่เฉพาะในหนึ่งปีแรกที่ พ.ร.บ. มีผลบังคับใช้ อนุญาตให้ผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปมีสิทธิสมัครเป็นสมาชิกได้ และกำหนดให้ผู้สมัครที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปมีสิทธิออมกับกองทุนได้ 10 ปีนับจากวันที่เป็นสมาชิก ซึ่งจะทำให้ได้รับเงินสมทบจากรัฐอย่างเต็มที่ เช่น หากอายุ 55 สมัครกองทุนในปีนี้สามารถออมได้ 10 จนถึงอายุ 65"พลตรีสรรเสริญ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ