SCB EIC คาดส่งออกไทยหดตัวต่อเป็นปีที่ 3 หลายปัจจัยส่งผลกระทบระยะยาว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 27, 2015 18:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB EIC)คาดว่า มูลค่าการส่งออกไทยปีนี้จะหดตัวลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 มูลค่าการส่งออกไทยในช่วงครึ่งแรกของปีหดตัวลงแล้วกว่า 4.8% โดยการส่งออกไทยได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ การถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP ในทุกหมวดสินค้าจากสหภาพยุโรป อีกทั้งการย้ายฐานการผลิตของกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ออกจากประเทศไทยหลังค่าแรงในประเทศปรับสูงขึ้น และทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ซึ่งกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบระยะยาวต่อการส่งออก

ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะช่วยพยุงการส่งออกของไทยในระยะต่อไปของปีนี้ไม่ให้หดตัวลงรุนแรง จะมาจากทิศทางค่าเงินบาทที่อ่อนลง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าที่มีการแข่งขันด้านราคาสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตร อีกทั้งผลของฐานราคาน้ำมันที่จะกลับมาอยู่ในระดับปกติในช่วงไตรมาส 4 และการส่งออกรถยนต์ที่คาดว่าผลของการออกรถกระบะรุ่นใหม่จะเป็นแค่เพียงปัจจัยชั่วคราวที่กดดันการส่งออกของไทย

กระทรวงพาณิชย์ รายงานมูลค่าการส่งออกไทยเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 18,161.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวลงถึง 7.9%YOY (เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) ซึ่งรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 3 ปี ส่งผลให้ในครึ่งแรงของปีนี้ส่งออกไทยหดตัวแล้วกว่า 4.8%YOY ด้านมูลค่าการนำเข้าเดือนมิถุนายนนั้นอยู่ที่ 18,011.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวลงเล็กน้อยที่ 0.2%YOY ทำให้ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้มูลค่าการนำเข้าหดตัวลงราว 7.9%YOY ด้านดุลการค้าเดือนมิถุนายนยังคงเกินดุลต่อเนื่องมาจากเมื่อเดือนก่อนหน้า โดยอยู่ที่ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ในครึ่งแรกของปีไทยเกินดุลการค้า 3,472.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

มูลค่าการส่งออกสินค้าหลักของไทยหดตัวลงรุนแรงในเดือนมิถุนายน นำโดยมูลค่าการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบที่กลับมาหดตัวอีกครั้งกว่า 19.1%YOY จากการส่งออกรถกระบะและรถบรรทุกที่ลดลงถึง 48.3% ซึ่งทางสภาอุตสาหกรรมฯ คาดว่าเป็นผลมาจากการเปลี่ยนรุ่นรถกระบะจึงทำให้ยังไม่สามารถผลิตและส่งออกรถกระบะได้เต็มกำลัง ด้านการส่งออกคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบหดตัวลง 2.8%YOY จากการส่งออกจานแม่เหล็กสำหรับคอมพิวเตอร์ที่ลดลงราว 16%YOY อีกทั้งการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้ายังได้รับผลกระทบจากการย้ายฐานการผลิตโทรทัศน์ ส่งผลให้ในเดือนมิถุนายนหดตัวลงอีกกว่า 5.9%YOY ในขณะที่การส่งออกสินค้าที่เชื่อมโยงกับน้ำมันก็ยังคงได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันโลกที่หดตัว ทำให้การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และพลาสติกในเดือนมิถุนายนหดตัวลงกว่า 13%YOY, 24%YOY และ 8%YOY ตามลำดับ

ด้านการส่งออกสินค้าเกษตรได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ลดลง โดยมูลค่าการส่งออกข้าวและน้ำตาลหดตัวลงที่ 21.1%YOY และ 12.3%YOY ตามลำดับ ถึงแม้ว่าปริมาณการส่งออกจะขยายตัวก็ตาม ด้านการส่งออกอาหารทะเลแปรรูปและแช่แข็งในเดือนมิถุนายนยังคงลดลงราว 10.5%YOY จากการถูกกดดันด้านการทำประมงผิดกฎหมายจากสหภาพยุโรป ทั้งนี้ เริ่มมีสัญญาณบวกจากทิศทางราคายางพาราในเดือนมิถุนายน โดยมูลค่าการส่งออกยางพาราในเดือนนี้กลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปีที่ 4.4%YOY

มูลค่าการนำเข้าในเดือนมิถุนายนหดตัวลง 0.2%YOY จากการหดตัวของมูลค่าการนำเข้าในหมวดเชื้อเพลิงที่ราว 7%YOY ตามราคาน้ำมันโลกที่ลดลง ด้านการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนมิถุนายนนั้นปรับเพิ่มขึ้น 2.6%YOY จากการนำเข้าเครื่องบินและเรือซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราวที่ขยายตัวกว่า 46%YOY โดยหากไม่นับรวมสินค้าดังกล่าว การนำเข้าสินค้าทุนยังคงหดตัวที่ 1.9%YOY ซึ่งสะท้อนถึงการลงทุนในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยการนำเข้าสินค้าทุน (ที่ไม่รวมเครื่องบินและเรือ) ในครึ่งปีแรกหดตัวลงแล้วกว่า 4.2%YOY

อย่างไรก็ดี การนำเข้าในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคกลับมาขยายตัวกว่า 5% ในเดือนมิถุนายน ส่งผลให้ในเดือนมิถุนายนนี้การนำเข้าที่ไม่รวมสินค้าในหมวดเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น 1.5%YOY ในขณะที่ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้การนำเข้าที่ไม่รวมสินค้าในหมวดเชื้อเพลิงลดลง 0.1%YOY

ขณะที่เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันมูลค่าการส่งออกไทย โดยในเดือนมิถุนายนนี้การส่งออกไทยไปยังตลาดพัฒนาแล้วทั้ง สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นหดตัวลง 0.1%YOY, 7.3%YOY, และ 4.2%YOY ตามลำดับ อีกทั้งเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงต่อเนื่องยังได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกของไทยไปยังตลาดจีนให้หดตัวลงอีก 0.8%YOY และยังส่งผลกระทบทางอ้อมผ่านการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน 5 และฮ่องกงที่มีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับจีนสูง โดยการส่งออกไปยังตลาดดังกล่าวหดตัวลงกว่า 11%YOY และ 19%YOY ตามลำดับ

ทั้งนี้ มีเพียงการส่งออกไปยังตลาด CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ที่ยังสามารถขยายตัวในระดับสูงที่ 10.8%YOY ตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มประเทศดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ