เงินบาทเย็นนี้ 35.25 อ่อนค่าต่อกังวลศก.ชะลอ มองกรอบสัปดาห์หน้า 35.10-35.40

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 31, 2015 16:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงิน เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 35.25 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าต่อเนื่องจากเปิดตลาดช่วงเช้าที่ระดับ 35.15 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 35.11-35.25 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากดอลลาร์แข็งค่า ซึ่งเป็นผลจากมติของ FOMC ที่ให้ตรึงอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แถลงออกมายังไม่ค่อยดีนัก
"เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องจากปัจจัยเดิมเรื่องตรึงอัตราดอกเบี้ยของ FOMC และตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศที่แบงก์ชาติแถลงออกมาไม่ค่อยดีนัก" นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน ประเมินสัปดาห์หน้าการเคลื่อนไหวของเงินบาทจะอยู่ในกรอบระหว่าง 35.10-35.40 บาท/ดอลลาร์

"สัปดาห์หน้าเงินบาทน่าจะยังยืนเหนือ 35(บาท/ดอลลาร์) ซึ่งต้องรอดูนโยบายจากแบงก์ชาติว่าจะเอาอย่างไร" นักบริหารเงิน กล่าว

ล่าสุด THAI BAHT SPOT RATE FIXING อยู่ที่ระดับ 35.2500 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 124.20 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 124.04 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0939 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.0935 ดอลลาร์/ยูโร
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) คาดส่งออกปีนี้มีแนวโน้มต่ำกว่าที่ธปท.เคยคาดไว้ที่ -1.5% และส่งผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้ไม่ถึงที่คาดไว้ที่ 3% ส่วนค่าเงินบาทที่อ่อนค่านั้น เชื่อว่าจะกระตุ้นให้ภาคการส่งออกขยายตัวได้ตั้งแต่ไตรมาส 3/2558 โดยเฉพาะหมวดเกษตร
  • ธปท.เผยภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือน มิ.ย. เศรษฐกิจยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐ รวมทั้งการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวเล็กน้อย ขณะที่เศรษฐกิจโดยรวมได้รับผลกระทบจากการส่งออกสินค้าที่หดตัวตามการชะลอตัวของความต้องการจากจีนและอาเซียน เมื่อผนวกกับอุปสงค์ในประเทศที่ไม่เข้มแข็ง จึงส่งผลให้ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจปรับลดลง การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัว และการลงทุนภาคเอกชนทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ
  • ธปท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือน มิ.ย.58 ลดลงจากเดือนก่อนที่ระดับ 50.3 มาอยู่ที่ระดับ 49.1 และดัชนีที่ปรับฤดูกาลแล้วยังคงต่ำกว่าระดับ 50 จากองค์ประกอบย่อยด้านคำสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศ การผลิต และการลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิต ตามความกังวลของผู้ประกอบการต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และภาวะส่งออกที่อ่อนแอจากเศรษฐกิจคู่ค้าที่ฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม
  • กระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสารของญี่ปุ่น เผยดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI) เดือน มิ.ย.ขยับขึ้น 0.1% เทียบรายปี ทำสถิติเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 25 โดยตัวเลขเงินเฟ้อของญี่ปุ่นยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันอันเนื่องมาจากการปรับตัวลงของราคาน้ำมัน แม้ดัชนี CPI เดือน มิ.ย.ปรับตัวขึ้นในอัตราเดียวกับเดือน พ.ค.แต่ตัวเลขดังกล่าวยังอยู่ห่างจากเป้าหมายที่ระดับ 2% ของธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ)

ส่วนอัตราว่างงานของญี่ปุ่นในเดือน มิ.ย.ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.4% นับเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน เนื่องจากมีจำนวนผู้หางานเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าสถานการณ์ตลาดแรงงานญี่ปุ่นดีขึ้นเป็นลำดับ โดยจำนวนตำแหน่งงานว่างในเดือน มิ.ย.ยังทรงตัวจากระดับเดือน พ.ค. ซึ่งมีสัดส่วนการเปิดรับสมัครงานต่อผู้หางานอยู่ที่ระดับ 1.19 สำหรับจำนวนผู้ว่างงานในเดือน มิ.ย.เพิ่มขึ้น 1.8% จากเดือน พ.ค.แตะที่ 2.22 ล้านคน ขณะที่อัตราว่างงานของหญิงญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 0.1% แตะ 3.1% ส่วนอัตราว่างงานของผู้ชายทรงตัวที่ 3.6%

ขณะที่การใช้จ่ายภาคครัวเรือนของญี่ปุ่นในเดือน มิ.ย.ลดลง 2% เทียบเป็นรายปี ซึ่งปรับตัวลงครั้งแรกในรอบ 2 เดือน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการลดลงของการใช้จ่ายด้านเสื้อผ้า ท่ามกลางสภาพอากาศที่แปรปรวน ส่วนรายได้ของครัวเรือนที่มีเงินเดือนประจำปรับตัวขึ้น 2.8% สู่ระดับเฉลี่ย 733,589 เยน ซึ่งเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3

  • พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ให้คำมั่นในการดำเนินนโยบายแบบกำหนดเป้าหมาย เพื่อรับมือกับแรงกดดันขาลงที่ค่อนข้างหนักหน่วงต่อเศรษฐกิจ โดยจะเดินหน้ารักษาความต่อเนื่องและเสถียรภาพของนโยบายระดับมหภาคเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไป ขณะที่เศรษฐกิจจีนมีการเติบโตสอดคล้องกับการคาดการณ์ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ แต่ก็ต้องหาปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆเนื่องจากปัจจัยขับเคลื่อนเดิมนั้นอ่อนแรงลง
  • นายจ้าว เฉินซิน รองผู้อำนวยการคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติของจีน(NDRC) เผยรัฐบาลจีนจะกระตุ้นการลงทุนเพื่อเพื่อการพัฒนาด้านเทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรมการผลิต 6 ประเภทในช่วงปี 2558-2560 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการยกระดับภาคการผลิตและกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ
  • สำนักงานสถิติของไต้หวัน เผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(GDP) ในแง่ตัวเลขช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ขยายตัว 0.64% ต่ำกว่าคาดการณ์ไว้ที่ 3.05% อย่างมาก และนับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 11 ไตรมาส โดยในด้านอุปสงค์ การบริโภคในภาคเอกชนขยายตัว 2.81% ซึ่งเป็นผลจากการพุ่งขึ้นของการเดินทางไปต่างประเทศและการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการสื่อสาร สันทนาการและการใช้จ่ายด้านวัฒนธรรม ขณะที่การส่งออกสินค้าและบริการที่แท้จริงหดตัวลง ซึ่งรวมถึงการร่วงลง 13.9% ของการส่งออกในเดือน มิ.ย. ด้านการผลิต ภาคการเงินและประกัน ซึ่งได้รับแรงหนุนจากค่าบริการที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้น มีการขยายตัว 5.8% แต่ภาคการลิตลดลง 0.19% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการร่วงลงของผลผลิตคอมพิวเตอร์ อิเลกทรอนิกและผลิตภัณฑ์ใยแก้ว ตลอดจนการชะลอตัวลงของการผลิตชิ้นส่วนอิเลกทรอนิกส์ ส่วนภาคค้าส่งและค้าปลีก รวมทั้งภาคไฟฟ้าและก๊าซ ปรับตัวลง 1.54% และ 9.65% ตามลำดับ
  • สำนักงานปริวรรตเงินตราแห่งรัฐของจีน(SAFE) เผยจีนมียอดขาดดุลการค้าด้านบริการในเดือน มิ.ย.จำนวน 1.49 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งลดลงจาก 1.83 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือน พ.ค. สำหรับช่วงครึ่งแรกของปี 2558 จีนขาดดุลการค้าด้านบริการที่ 9.16 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนด้านสินค้ามียอดเกินดุล 4.76 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือน มิ.ย.และเกินดุล 2.554 แสนล้านดอลลาร์ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติของเยอรมนี เผยยอดค้าปลีกเดือน มิ.ย.ปรับตัวลง 2.3% จากเดือน พ.ค.ซึ่งปรับตามคาดการณ์เงินเฟ้อและปัจจัยตามฤดูกาล แต่ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้น 5.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี และสวนทางกับคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่คาดว่าจะทรงตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ